ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
 

 

รวมลิ้งค์ เว็บไซต์ธรรมะ ที่น่าสนใจ
  THAIWARE Dharma | รายละเอียด บทความ บทสวด บทคาถา ธรรมะ
เลือกขนาดตัวอักษร ขนาดตัวอักษร :  ก   ก   ก   ก 

พระบรมราโชวาท กับ การพัฒนาประเทศ

 

    Share  
 

 

พระบรมราโชวาท กับ การพัฒนาประเทศ

ผู้เขียนบทความ ผศ.ดร. กิตติยาภรณ์ โชคสวัสด์ภิญโญ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
E-mail: K.phinyo@gamil.com

สภาวการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบันที่มีความขัดแย้ง แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ก่อให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ ราวกับมีความมืดครอบงำ นำไปสู่ความหวาดวิตก ความสะพรึงกลัว ต่อสถานการณ์ต่างๆ จนมิอาจก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นได้ การปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปรียบเสมือนดวงประทีปที่ให้ความสว่าง ส่องนำทางให้แก่ผู้นำไปปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากความมืดทั้งหลาย จึงเป็นหนทางแห่งการหลุดพ้น ที่จะทำให้ได้พบจุดหมายอันนำความสุขมาสู่ชีวิต และนำประเทศให้สงบสุขสามารถพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปได้

ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ดังพระปฐมบรมราชโองการ แสดงพระบรมราชปณิธาน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ความว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์ความสุขของประชาชนชาวไทย และเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศตลอดมา โดยมิทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากและความสุขส่วนพระองค์

ในช่วงรัฐบาลของฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสานนท์ ได้น้อมนำพระบรมราชโองการดังกล่าว มาเป็นอุดมการณ์แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง โดยพระราชดำรัสที่ว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” เป็นที่มาของ “แผ่นดินธรรม” และพระราชดำรัสที่ว่า “ เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นที่มาของ “แผ่นดินทอง”2 ซึ่งมีความหมายดังนี้

แผ่นดินธรรม หมายถึง แผ่นดินที่มีผู้ปฏิบัติธรรม และการปฏิบัติธรรมนั้น หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง

แผ่นดินทอง หมายถึง แผ่นดินที่ประชาชน ได้รับประโยชน์ และความสุขอย่างทั่วถึงตามควรแก่อัตภาพ

เป้าหมายของอุดมการณ์ แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง คือ การพัฒนาคน หมู่บ้าน ชุมชนและสังคม เพื่อสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็น แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ และความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ

ในด้านการพัฒนาคน มีเป้าหมาย เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สามารถพึ่งตนเองได้ และทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดดัชนีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไว้ 8 ประการ คือ 5

(1) อาหารดี
(2) มีบ้านอาศัย
(3) ศึกษาอนามัยถ้วนทั่ว
(4) ครอบครัวปลอดภัย
(5) ได้ผลผลิตดี
(6) มีลูกไม่มาก
(7) อยากร่วมพัฒนา
(8) พาสู่คุณธรรม

ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงต้องทำการพัฒนาทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ โดยมีเป้าหมาย ให้ดำรงชีวิตในระดับที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐาน เช่น มีสัมมาอาชีพ มีรายได้ มีปัจจัยสี่ในการครองชีพ มีการศึกษา มีสุขอนามัยที่ดี ส่วนการพัฒนาด้านจิตใจ มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นผู้มีจิตใจใฝ่พัฒนา ใฝ่หาความรู้ ใฝ่ทำความดี ใฝ่สร้างคุณธรรม โดยยึดศาสนธรรมเป็นหลัก

ซึ่งในการสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทอง ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทั้งประเทศ ดังพระบรมราโชวาทดังนี้

“ การสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทอง หรือการช่วยตนเอง ในปัจจุบันนี้ เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความสงบให้เกิดขึ้นก่อนโดยเร็ว เพราะถ้าความสงบยังไม่เกิด เราจะคิดอ่านแก้ปัญหา หรือจะรวมกำลังกันทำการงานช่วยตัวเองไม่ได้ ความสงบนั้น ภายนอกได้แก่ สภาวการณ์อันเรียบร้อยเป็นปรกติ ไม่มีความวุ่นวายขัดแย้ง ไม่มีการเอาเปรียบ เบียดเบียนหรือมุ่งร้ายทำลายกัน ภายใน ได้แก่ ความคิดจิตใจที่ไม่ฟุ้งซ่าน หวั่นไหว หรือเดือดร้อนกระวนกระวาย ด้วยอำนาจความมักได้เห็นแก่ตัว ความร้ายกาจเพ่งโทษ ความหลงใหลเห่อเหิม อันเป็นต้นเหตุของอกุศลทุจริตทั้งหมด การทำความสงบนั้นต้องเริ่มที่ภายในตัวในใจก่อน” 1

พระบรมราโชวาทนี้ชี้ให้เห็นว่า การจะพัฒนาประเทศให้สงบสุข ประชาชนต้องอยู่อย่างร่มเย็นและสงบสุขก่อน ซึ่งความสงบนั้น มีทั้งความสงบภายนอกและความสงบภายใน สงบภายนอกนั้น ได้แก่ สถานการณ์ในบ้านเมืองที่ไม่วุ่นวาย ไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือมุ่งร้ายทำลายกัน ส่วนความสงบภายในได้แก่ จิตใจที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่มุ่งร้ายมักได้เห็นแก่ตัว ซึ่งความสงบเหล่านี้หากบังเกิด ย่อมสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ดังหลักการขององค์การยูเนสโกที่กล่าวว่า 1 “ Since wars begin in the minds of men, it is in the minds of men that defenses of peace must be constructed” ซึ่งอาจแปลได้ว่า “ เนื่องจากสงครามเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ การสร้างสันติภาพ จึงต้องสร้างในจิตใจของมนุษย์”

ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องในการพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในวันที่ 5 เมษายน 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการธำรงความเป็นไทย มีข้อความดังนี้

“ การรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่นคงยืนยาวไป ถือว่าเป็นกรณียกิจอันสำคัญสูงสุด นอกจากต้องอาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาดสามารถและสุจริตธรรมแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศด้วย คือ ประชาชนแต่ละคนจะต้องขวนขวาย สร้างสรรค์ประโยชน์ และดำรงอยู่ในคุณธรรม อันสมควรแก่ฐานะของตนๆ คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษา และน้อมนำมาปฏิบัติมีอยู่สี่ประการ ประการแรกคือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติในความสัจ ความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่คือการรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝัง และบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์” 1

พระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมานี้ ตรงกับหลักฆราวาสธรรม ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ สัจจะ คือการรักษาความสัจ จริงใจต่อตนเองที่จะประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ทมะ คือ การข่มใจตนเอง ฝึกตนเองให้ประพฤติปฏิบัติในความสัจความดีนั้น ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริตไม่ว่าด้วยเหตุใด และจาคะ คือความเสียสละ รู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง4

ดังนั้นหากคนไทยแต่ละคน สามารถสร้างความสงบทั้งภายในและภายนอกได้ ตลอดจน ปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรม ย่อมจะนำความสงบสุขมาสู่ประเทศไทยของเรา และคุณธรรมอีกข้อหนึ่งซึ่งทุกคนควรยึดถือปฏิบัติคือความสามัคคี ดังพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับความสามัคคีดังนี้

“ ความสามัคคีนี้ เป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งหมู่คนที่อยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมี ต้องถนอมรักษา และต้องนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยสรรพกิจการงาน ที่เป็นส่วนรวมทุกด้านทุกระดับ ต้องอาศัยบุคคลทั้งหลายฝ่ายร่วมกันคิด ช่วยกันทำ ถ้าแต่ละฝ่ายเข้ามาร่วมงานกันด้วยความตั้งใจดี ด้วยความรู้ความสามารถ ด้วยความฉลาดมีเหตุผล และด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ งานก็จะสำเร็จผลสมบูรณ์งดงาม ตามประสงค์ทุกอย่าง

ดังนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ทั้งที่มีตำแหน่งหน้าที่ในราชการ และมิใช่ราชการทุกคน ตลอดจนประชาชนชาวไทยทั่วหน้า ได้พิจารณาศึกษาให้ทราบความหมาย และคุณค่าของความสามัคคีอย่างถ่องแท้ และตั้งความคิดจิตใจให้แน่วแน่หนักแน่นที่จะร่วมกันบำเพ็ญกรณียกิจของตน ให้ประสานและเกื้อกูลส่งเสริมกัน อย่างสอดคล้องด้วยความสุจริต ขยันขันแข็งและจริงใจ เพื่อให้ผลสำเร็จทั้งหลายที่แต่ละฝ่ายแต่ละคนกระทำ ประมวลกันเป็นความเจริญมั่นคง ความวัฒนาผาสุก และความรุ่งเรืองไพบูลย์ ของประเทศชาติไทยของเรา” 1

พระบรมราโชวาทนี้ทรงเน้นให้คนไทย รู้รักสามัคคี กล่าวคือ รู้ คือการทำงานด้วยความรู้และสติปัญญา การไตร่ตรองให้รอบคอบ ถึงผลดีผลเสียที่เกิดขึ้น ไม่ทำงานด้วยความไม่รู้ โดยปราศจากสติปัญญา รัก คือ ฉันทะ มีความรักในงานที่ทำ มีความรักในเพื่อนมนุษย์ และเพื่อนร่วมงาน มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ สามัคคี คือความร่วมมือร่วมใจกัน ด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจต่อกัน ไม่อิจฉาริษยากัน ในการที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 4 ดังนั้นคนไทยจึงควรรู้รักสามัคคี และปฏิบัติหน้าที่เพื่อผดุงแผ่นดินไทย มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ดังพระราชนิพนธ์สยามานุสติ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ที่กล่าวถึงความรักต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ไว้ดังนี้

รักราช จงจิตน้อม ภักดี ท่านนา
รักชาติ กอบกรณีย์ แน่วไว้
รักศาสน์ กอปรบุญตรี สุจริต ถ้วนเทอญ
รักศักดิ์ จงจิตให้ โลกซร้องสรรเสริญ

เราในฐานะคนไทย จึงควรดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ด้วยการปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาท และหลักศาสนธรรม อันจักนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติให้เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เพื่อความสงบสุข และเจริญรุ่งเรืองสืบไป

เอกสารอ้างอิง

1. สมพร เทพสิทธา. ดวงประทีปจากพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: พิมพ์สวย; 2549.

2. สมพร เทพสิทธา. ปัญหาสังคม และการพัฒนาสังคม. สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์: 2540.

3. สมพร เทพสิทธา. การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการพัฒนาคน. สภาสังคม สงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์: 2539.

4. สมพร เทพสิทธา. การพัฒนาจิตใจ กับการพัฒนาประเทศ. สภาสังคมสงเคราะห์แห่ง ประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์: 2536.

5. สุนันท์ บุราณรมย์ และคณะ. วิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิต. กรุงเทพฯ: เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น; 2542.




THAIWARE Dharma | นำข้อมูลบทความออก !  นำข้อมูลออกพิมพ์ !

THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออก โดยการพิมพ์ (Print Article by Printable View)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ MS.Word (Export Article to MS.Word)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ ไฟล์เอกสาร PDF (Export Article to PDF Format Document)
 

THAIWARE Dharma | กลับสู่หน้าแรก ไทยแวร์ธรรมะ
 

 

 

 

  THAIWARE Dharma | ส่งความคิดเห็นจากทางบ้าน !
หัวข้อ เนื้อหา ข้อตกลง
  ความคิดเห็น* :

หมายเหตุ : กรอกรายละเอียดของบทความเข้าไป (ไม่รับ HTML Code) สามารถกด Enter ขึ้นบรรทัดใหม่ได้
  ห้ามโพสข้อความ !

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลต่อ ความมั่นคงของประเทศ

  ที่ส่อไปทางลามก อนาจาร หรือผิดศีลธรรม

  ที่ถือเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย

  ที่เป็นความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ผิดต่อ พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๑
  ชื่อ / อีเมล์* :

หมายเหตุ : "นาย สมชาย รักธรรม" หรือ "somchai.r@gmail.com"
  รหัสยืนยัน* :

 
ฉันยอมรับข้อตกลงที่กล่าวมา ภายในหน้านี้ ทั้งหมด