ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
 

 

รวมลิ้งค์ เว็บไซต์ธรรมะ ที่น่าสนใจ
  THAIWARE Dharma | รายละเอียด บทความ บทสวด บทคาถา ธรรมะ
เลือกขนาดตัวอักษร ขนาดตัวอักษร :  ก   ก   ก   ก 

สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ (ประสบการณ์ ไปปฏิบัติธรรมที่ ประเทศอินเดีย) (ตอนที่ 1)

 

    Share  
 

 

 


สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ (ประสบการณ์ การเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่ ประเทศอินเดีย) (ตอนที่ 1)
 
ความอยากเป็นเหตุ เมื่อบริษัททัวร์แห่งหนึ่งส่งกำหนดการไปปฏิบัติธรรม บวชเนกขัมมะ ถือศีลแปดที่สังเวชนียสถานทั้งสี่มาให้ ก็นึกได้ว่าทุกครั้งที่ไป คิดแต่เรื่องการเตรียมเครื่องสักการะและข้าวของไปทำบุญ ยังไม่เคยคิดปฏิบัติบูชาเลย จึงอยากไปอีกสักครั้ง แต่มาติดตรงศีลข้อที่หก ฉันเอกา รับประทานวันละมื้อ ไม่ไหวแน่ เรียนถามอาจารย์คำปั่น อาจารย์บอกว่า วิกาลโภชนา รับประทานสองมื้อก่อนเที่ยงได้ ค่อยยังชั่ว แต่น้ำปานะที่จะดื่มรองท้องหลังเที่ยงจนถึงก่อนค่ำ ดื่มน้ำมะม่วงได้ไหม (ที่อินเดียเขาทำเป็นกล่องยูเอชทีขาย อร่อยดี) อาจารย์บอกว่าไม่ถูกต้องตามพระวินัย เพราะน้ำปานะจะคั้นแล้วกรองดื่ม ไม่ต้ม สุกด้วยไฟไม่ควร ทางที่ดีควรดื่มน้ำเปล่า ถึงตอนนี้คิดหนัก การเดินทางไปกราบสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้ ค่อนข้างสะบักสะบอม มีเวลาพักผ่อนน้อย นอนดึกตื่นเช้า ใช้เวลาในรถนานเป็นวัน คือประมาณ 5 - 8 ชั่วโมงหรือกว่านั้น ถ้าเพลียมากจนไม่สบายก็ไม่ควร นึกขึ้นได้ว่า การปฏิบัติบูชานั้นทำได้หลายวิธี วิธีที่สะดวกสบายและได้ผลดีที่สุดสำหรับข้าพเจ้าคือ ฟังธรรมะ เพื่อให้มีความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงยิ่งๆขึ้น ดังนั้นควรติดตามท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ไปกราบสังเวชนียสถานสักครั้งหนึ่ง จึงรีบติดต่อไปที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โชคดียังรับสมาชิกอยู่ พอใกล้วันเดินทาง ก็มีเรื่องให้กังวลใจว่าสนามบินสุวรรณภูมิอาจจะโดนน้ำท่วม ถ้าน้ำท่วมต้องไปอู่ตะเภาจะไปยังไง แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี
 
การเตรียมตัวเดินทางไปอินเดีย ควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนจัดกระเป๋าจากทัวร์ หรือ เว็บไซด์อาจารย์กูเกิล นอกจากนี้ต้องเตรียมหมวกกันแดดและกันหัวเย็นในรถบัส ถุงเท้าวันละคู่ถ้าไม่ชอบเดินเท้าเปล่าเวลาเข้าไปกราบสังเวชนียสถานแต่ละแห่ง ไฟฉายต้องมีติดตัวเพราะไฟดับบ่อยและใช้ส่องทาง ส่องสิ่งปฏิกูลยามค่ำคืน ผ้าปิดจมูกกันฝุ่นและป้องกันไข้หวัด น้ำดื่มสะอาด วันละ 2 ขวด (ปกติทัวร์แจกให้) ระหว่างการเดินทาง อย่าอดน้ำ จิบไว้เรื่อยๆ จะได้ไม่เพลียมาก ควรเตรียมตัวเข้าทุ่งระหว่างทางด้วย ถ้าทัวร์ไม่มีเต้นท์ส้วมกางให้ ก็ต้องใช้เทคนิคการนั่งยองๆโดยไม่โป๊ ตามวิธีที่สะดวก อาจใส่เสื้อคลุมสะโพก เวลานั่งลงก็ดึงชายเสื้อมาคลุมให้เรียบร้อย ก่อนจะปฏิบัติภารกิจ อย่ากลั้นระบบขับถ่าย สำหรับอาหารควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆหรือสะอาด ระวังผักสดผลไม้ ชานม (ที่เรียกจาย หรือ กลัมจาย) ซึ่งอาจทำให้ท้องเสียได้ง่ายถ้าดื่มมากไป ล้างมือหรือเช็ดมือด้วยกระดาษเปียกบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งต่างๆที่ไม่แน่ใจว่าสะอาด อย่าให้เงินขอทาน (ยกเว้นระหว่างทางขึ้นภูเขาคิชฌกูฎ) ถ้าต้องการให้เงินควรฝากไกด์ประจำรถทัวร์เป็นคนให้ มิฉะนั้นอาจถูกแขกกรูเข้ามารุมทึ้ง ควรปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆของคณะทัวร์ โดยเฉพาะการตรงต่อเวลา เก็บพาสปอร์ตและเงินให้มิดชิด อย่าลืมเอาของมีคม น้ำ ครีม ของเหลว ถ่านไฟฉายใส่กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ห้ามนำติดตัวขึ้นเครื่องบิน เมื่อพร้อมแล้วก็ได้เวลาเดินทางไปอินเดีย ดินแดนที่ยังคงดำรงวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาแต่ก่อนพุทธกาล ในขณะที่วิ่งตามกระแส
เสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2554 (กรุงเทพฯ – นิวเดลี)
 
ถึงกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ขณะเครื่องเตรียมจะบินลงมองเห็นแม่น้ำยมุนา แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านข้างตัวเมือง ข้าพเจ้าเผลอคิดเป็นตุเป็นตะไปว่า เครื่องกำลังบินลงที่คยา (Gaya) ที่มีแม่น้ำเนรัญชราเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านเช่นกัน แต่เมื่อมองหาพระสถูปพุทธคยาไม่เจอ และบ้านเรือนก็หนาตาผิดกว่าเดิม จึงเอะใจได้ว่าขณะนี้เครื่องกำลังบินลงที่กรุงนิวเดลี เพี้ยนไปได้ขนาดนี้ นึกถึงที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าเป็นเพราะโมหะที่เกิดพร้อมกับอุทธัจจะ (ความไม่รู้ร่วมกับความฟุ้งซ่าน) ทำให้ไม่เห็นสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า เที่ยวไปหาอยู่ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสภาพธรรมที่มีกำลังแรงมากเพราะเหมือนฝันกลางวันทั้งที่ยังลืมตาอยู่
 
เวลาอินเดียช้ากว่าไทยชั่วโมงครึ่ง กรุณาตั้งเวลาใหม่ จะได้นัดเวลากันไม่ผิด ดังนั้นวันแรกเวลาจึงยาวนานกว่าปกติ ระหว่างทางเข้าตัวเมืองมีการก่อสร้างต่างๆ เป็นระยะๆ มองเห็นดินที่แห้งเป็นฝุ่นสีเทา ใครแพ้ฝุ่นอย่าลืมผ้าปิดจมูก ใครที่มาครั้งแรกอาจรำคาญเสียงแตรรถยนต์ที่ดังระงมไปหมดเมื่อรถวิ่งเข้าไปในบริเวณชุมชน
 
ไปกราบสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร และมหานิทานสูตร (ปฏิจจสมุปบาท)  ณ กุรุรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกรุงนิวเดลี ทางการอินเดียล้อมรั้วโดยรอบสถานที่ไว้ ดูแลอย่างดี บริเวณที่ทรงแสดงธรรมอยู่บนเนินหินเตี้ยๆ เขาทำรั้วเหล็กกั้นล้อมไว้มีประตูปิดเปิด มาคราวก่อนไม่มีโอกาสขึ้นไปดู คราวนี้มีโอกาส จึงบุกเข้าไปกราบที่ก้อนหินใกล้ที่ประทับด้วยความอยากกราบให้ใกล้ที่สุด แม้รู้ว่าไม่ควร ก็อดใจไม่ได้ ขอกราบใกล้ๆ สักครั้ง ก้อนหินที่ประทับมีจารึกเป็นภาษาแขกโบราณ เนื้อก้อนหินมีประกายระยิบระยับเหมือนโรยด้วยเพชร ได้กราบแล้วก็สมหวังปลื้มใจ จากนั้นลงมาร่วมวงฟังสนทนาธรรมของท่านอาจารย์บ้าง อาจารย์ท่านอื่นๆบ้าง พอทีมงานเอาเครื่องขยายเสียงมาให้ (สาธุ) ก็ล้อมวงฟังสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ ฟังเพลินแต่จดจำอะไรไม่ได้เพราะไม่ได้เอากระดาษกับปากกามาด้วย ลืมเตรียม คืนนี้พักที่โรงแรมระดับห้าดาว Crowne Plaza เป็นโรงแรมสร้างใหม่ ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยดีมากเพราะช่วงก่อนเดินทางไป ที่นิวเดลีมีการก่อการร้าย จึงมีการป้องกันเข้มงวด ต้องผ่านเครื่องตรวจก่อนเข้าโรงแรม ลิฟท์ที่จะขึ้นห้องพักจะต้องใช้คีย์การ์ดของห้องพักเสียบก่อน มิฉะนั้นลิฟท์ไม่ทำงาน ที่นิวเดลีนี้อุณหภูมิในฤดูหนาวกับฤดูร้อนต่างกันมาก บางโรงแรมสร้างห้องพักใต้ดินลงไปอีกหลายชั้นสำหรับใช้ในฤดูร้อน โรงแรมนี้มีชั้นใต้ดินชั้นเดียวแต่เพดานสูงมาก การก่อสร้างต่างๆในอินเดีย ถ้ามีเงินก็นิยมใช้หินอ่อนหรือหินทรายสีชมพูหรือสีต่างๆเป็นหลักเป็นพื้นสร้างบ้านหลังใหญ่โต ถ้ายากจนก็ก่ออิฐที่เอาดินมาเผาแบบอิฐมอญแต่ก้อนใหญ่กว่า สร้างแบบพอเพียง อยู่ด้วยกันทั้งคนทั้งวัว หลังคาบ้านคือดาดฟ้า เอาไว้ตากข้าวของ ไว้นั่งเล่น ผนังรอบบ้านใช้เป็นที่ตากมูลวัวผสมแกลบปั้นเป็นก้อนกลมแบนแล้วแปะที่ผนัง นอกจากทำให้บ้านอุ่น เมื่อแห้งก็เก็บไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิง ไว้ขายได้ด้วย เตาเผาอิฐของเขาเป็นปล่องสูงขึ้นไป ดูไกลๆ เหมือนเสาหินพระเจ้าอโศก เวลาเดินทางจะเห็นเสาพระเจ้าอโศกปลอมนี้เป็นระยะๆ
 
อาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2554 (นิวเดลี – กรุงสาวัตถี)
 
จากกรุงนิวเดลีไปลัคเนาว์ (Lucknow) โดยเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 45 นาที แล้วนั่งรถต่อไปยังกรุงสาวัตถี ไปกราบพระมูลคันธกุฏีที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร ในตอนค่ำ แมลงเยอะ พักโรงแรม Lotus Nikko ไม่มีลิฟท์ ห้องอาหารและห้องพักอยู่ชั้นสอง แขกที่ขนกระเป๋าติดใจเงินทิปจึงแสดงกิริยาให้รู้ว่าอยากได้เงินจากผู้เข้าพักแต่ละคน ให้ไปยี่สิบรูปีส์ยังไม่พอ รอจะเอาจากน้องหมูอีก แขกบริกรมีโลภะ แขกเข้าพักเลยมีโทสะ เพราะยังมีโมหะทั้งคู่
 
วัดพระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ถึง 19 พรรษา ถ้ารวมเวลาที่วัดบุพพาราม ของท่านวิสาขามิคารมาตา อีก 6 พรรษา ก็ประทับในกรุงสาวัตถี 25 พรรษา และยังเป็นสถานที่ที่พระอรหันตสาวก พระอริยเจ้าอยู่จำพรรษา เป็นจำนวนมาก ทางการอินเดียได้บูรณะและดูแลอย่างดี สงบ ร่มรื่น ขณะนั่งอยู่บริเวณทางเดินด้านนอกพระมูลคันธกุฎี เห็นผู้ที่เข้าไปกราบนมัสการ และสวดมนต์ หลายองค์หลายท่านเข้าไปถึงด้านในของพระมูลคันธกุฎี ซึ่งไม่ควรเข้าไป เพราะเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประทับ หรือทรงใช้สอย ท่านอาจารย์และท่านผู้รู้ทุกท่านได้ห้ามไว้ว่า เป็นสถานที่ที่เราต้องให้การเคารพอย่างสูงสุด มิบังควรเข้าไป และอาณาบริเวณโดยรอบ ก็มิควรใส่รองเท้าเข้าไป ท่านอาจารย์เดินเข้าไปด้วยเท้าเปล่า และกราบนมัสการตั้งแต่ประตูทางเข้า  ข้าพเจ้ามาทีไรก็ใส่รองเท้า และก็เคยเข้าไปกราบที่ด้านในสุดของพระมูลคันธกุฎีแล้ว ด้วยไม่ทราบความควรมิควร ครั้งนี้ทราบแล้ว จึงไม่ทำ แต่ยังขออนุญาตใส่ถุงเท้า ทำให้นึกขึ้นมาว่า ถ้าทำเพราะไม่รู้ ไม่มีเจตนา ไม่เป็นกรรม แต่รู้แล้วยังทำ มีเจตนา เป็นกรรม ถ้าช่วยเหลือหรือแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็อย่ากังวล ทุกคนมีกรรมเป็นของตน
 
ธรรมะวันนี้จากท่านอาจารย์ “ต้องฟังธรรมะให้เข้าใจ อย่าไปหวังบรรลุมรรคผล  เมื่อเข้าใจแล้วจะประจักษ์แจ้งเอง  ไม่ต้องหวัง”   เรียนถามท่านว่า ถ้าเราศึกษาธรรมะโดยเจาะจงเฉพาะเรื่องที่เข้าใจเท่านั้น จะศึกษาให้ประจักษ์แจ้งได้ไหม  ท่านตอบว่า “ก็จะเกิดความสงสัยไม่รู้ได้ จึงต้องฟังให้เข้าใจ จนประจักษ์แจ้ง” สาธุ ควรศึกษาให้เข้าใจทั้งหมด
 
จันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2554 (กรุงสาวัตถี – ลุมพินี)
 
ดีใจ เช้านี้ได้ถวายแอปเปิ้ล 1 ลูก ที่เอามาจากห้องพักในโรงแรมที่นิวเดลี แก่พระภิกษุองค์หนึ่ง ที่นั่งพักอยู่ในวัดพระเชตวัน ที่จริงอยากถวายหมูแดดเดียวของน้องหมูด้วย แต่คิดว่าพระท่านอาจไม่ฉันหมูจึงไม่ถวาย  ดีใจ เก็บใบโพธิ์ ใบสวยๆ ใต้ต้นอานันทโพธิ์ มาได้ 13 ใบ  ดีใจ ได้กราบเท้าท่านอาจารย์ เป็นลูกศิษย์มานานเพิ่งมีโอกาส ทั้งสามเรื่องเป็นสิ่งที่สมหวังปลื้มใจในวันนี้  มีสมหวังก็มีผิดหวัง อยากฟังธรรมะระหว่างนั่งรถเดินทางไปเนปาล แต่ก็ฟังไม่ได้ มีเหตุขัดข้องในเรื่องอุปกรณ์ขยายเสียงภายในรถคันที่นั่ง ทำให้นึกขึ้นมาว่า ถ้าเหตุปัจจัยพร้อม ก็จะได้สิ่งที่หวัง  แต่ถึงแม้จะหวังไว้มากอย่างไร ถ้าเหตุปัจจัยไม่พร้อม ก็ไม่ได้สิ่งที่หวังนั้น
 
หลังจากเวียนเทียนรอบพระมูลคันธกุฎีแล้ว  ท่านอาจารย์สุจินต์ อาจารย์วิทยากรและคณะร่วมสนทนาธรรมกัน  ข้าพเจ้าหยิบกระดาษปากกาที่น้องหมูให้ไว้ชุดหนึ่ง มาบันทึกไว้กันลืมในช่วงที่มีสมาธิ เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น สมาธิสั้นลง บ่อยครั้งที่ฟังไปก็คิดเรื่องอื่นๆประกอบด้วย หรือเตลิดไปกับสิ่งแวดล้อมที่เข้ามากระทบ ตามปัจจัยปรุงแต่ง ก็จะไม่ได้ฟัง หรือฟังไม่ทัน สำหรับวันนี้ รวบรวมมาได้ดังนี้
 
เราคิดว่าเข้าใจแล้ว (รู้แล้ว)  เราเข้าใจจริง (รู้จริง) หรือเปล่า  อกุศล อวิชชา ก็ละได้ด้วยปัญญา ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ละไม่ได้ แต่ปัญญาจะเริ่มเกิดมีขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มฟังธรรม ธรรมะจากพระโอษฐ์ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่เป็นของจริงแท้ ไม่ใช่ธรรมะปลอมที่เป็นอวิชชา
 
ถาม : พระพุทธเจ้าเป็นอะไร
ตอบ : เป็นธรรมะ
 
ถาม : อะไรที่เป็นธรรมะ ตอบ (เอ่อ...เอ่อ...)
เฉลย : พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ
 
ถาม : นิวรณ์คืออะไร
ตอบ : เป็นธรรมะ เป็นอกุศลธรรม เป็นความติดข้อง
 
ข้าพเจ้าจะไม่ได้พบท่านอาจารย์ 2 วัน เพราะท่านอาจารย์และคณะบางส่วนจะกลับไปที่ลัคเนาว์ แล้วขึ้นเครื่องบินไปรอพวกเราที่พาราณสี จึงเข้าไปขอธรรมะเป็นข้อคิดระหว่างที่ไม่ได้เจอท่าน ท่านบอกว่าก็คือทั้งหมดที่พูดในช่วงเช้าวันนี้ (โอย จดมาได้หน่อยเดียว) แล้วท่านก็เมตตาให้ข้อคิดสั้นๆว่า “ให้รู้ ให้เข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ” สาธุ ข้าพเจ้าดีใจมาก เหมาะสมกับคนสมาธิสั้นแต่ฟุ้งซ่านยาว  อย่างข้าพเจ้าจริงๆ  ฟังแล้วก็รับมาพิจารณาต่อไป แม้จะรู้มานานแล้วว่าสิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ ก็ยังเห็นสิ่งทั้งปวงไม่เป็นธรรมะอยู่เสมอ คือความเข้าใจยังไม่มั่นคงจริงๆ เมื่อความเข้าใจมั่นคงขึ้นว่า สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดตามปัจจัยปรุงแต่ง ก็จะละคลายความยึดมั่นว่าเป็นตัวตนลงได้ และละคลายความติดข้อง ต้องการ ความเพลิดเพลินยินดีในตัณหา ทิฏฐิได้ในที่สุด
 
น้องธนากรและทีมเอกสาร แจกเอกสารสาระธรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่เราจะไป และธรรมะที่น่าสนใจให้พวกเราได้อ่านทุกวัน สาธุ น้องเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า “ขยะคือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์  ถ้ารู้ว่าเป็นขยะจะยังเก็บไว้อีกหรือ” (ขยะในที่นี้คือกิเลส - ความอยากได้ ความโกรธ ความหลงผิดจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง)  แล้วน้องธนากรก็ถาม สว. (ผู้สูงวัย) ในรถว่า พี่ๆลืมอะไรหรือเปล่า เฉลย ลืมไปว่าทุกๆ ที่ ในกรุงสาวัตถี มีรอยพระพุทธบาท มีรอยเท้าของพระอรหันต์และพระอริยะ มากมาย และเล่าต่อว่า เมื่อครั้งไปศรีลังกากับท่านอาจารย์ ท่านได้ถามว่า คุณธนากรคะ ลืมอะไรหรือเปล่า   เฉลย ลืมสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่หรือเปล่า  เฉลยนี้ ข้าพเจ้าเอามาเสริมข้อคิดจากท่านอาจารย์ในช่วงเช้า ขอบคุณน้องธนากรที่ช่วยเตือนข้าพเจ้าโดยไม่รู้ตัว คืนนี้นอนโรงแรม Nansc ซึ่งอยู่ใกล้ด่านสุเนาลี (Sunauli) อินเดีย – เนปาล ได้กินปลาเนปาลคล้ายปลาช่อนปนปลาดุก จำชื่อไม่ได้ อร่อย แต่คาวเล็กน้อย
 
อังคารที่ 18 ตุลาคม 2554 (ลุมพินี – กุสินารา)
 
ไปกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก มีเด็กๆ เนปาลยืนเข้าแถวขอเงิน ขออาหาร เรียบร้อยน่ารัก อยู่หน้าประตูทางเข้า เมื่อเข้าไปจะมีแผนที่แสดงบริเวณประตูเมืองฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออกที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ หมู่ปราสาทราชมณเฑียร สำหรับสถูปพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา อยู่ไกลมาก ต้องมีผู้นำทางไป
 
จากนั้นเดินทางต่อไปยังสถานที่ประสูติที่สวนลุมพินีวัน ซึ่งทางเนปาลได้ปรับปรุงสถานที่ครั้งมโหฬาร ทางเข้าเป็นคนละทางกับที่เคยไป จากรถบัสที่จอดไปถึงประตูสถานที่ประสูติ ไกลกว่าเดิมเป็นกิโล คนส่วนใหญ่ก็เดินเข้าไป คนไทยประหยัดเวลาเดิน จึงนั่งสามล้อ ซึ่งขึ้นราคาจาก 10 เป็น 25 รูปีส์ต่อคน และขอทิปอีกหน่อยเพราะถีบจนเหนื่อย ภายในสถานที่ประสูติ คนไทยได้ร่วมกันบริจาคเงิน ส่งมาทำทางเดินและลานหน้าวิหารมายาเทวีด้านเสาหินพระเจ้าอโศก ทำให้เดินสบาย และเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามขึ้น สาธุ เมื่อออกมาที่ประตูทางเข้าเพื่อใส่รองเท้าและรอสามล้อ เห็นฝรั่งหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินเท้าเปล่ามาที่ประตู แล้วแวะล้างเท้า ก่อนก้มลงกราบหน้าทางเข้าประตู เห็นเขาให้ความนอบน้อมอย่างสูงแล้วอดชื่นชมไม่ได้ อดเปรียบเทียบกับตัวเอง ตามประสาผู้ที่ยังมีมานะว่า กิริยาเรายังไม่ดีเท่าเขา ได้แต่อนุโมทนาในกุศลกรรมของเขาทั้งคู่
 
อ่านหนังสือที่ติดตัวมาระหว่างเดินทาง ได้ธรรมะจากหนังสือ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ว่า “คนเราอยู่กับสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส แล้วก็นึกคิดถึงสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส” ทำให้นึกขึ้นมาว่า คนเราก็อยู่กับผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
 
ฟังธรรมในรถ ได้มานิดหนึ่ง เพราะเผลอหลับด้วยความเพลีย สรุปความว่า ทานบารมี มี 3 ประเภทคือ อามิสทาน (การให้สิ่งของต่างๆ) อภัยทาน (การยกโทษให้ ไม่โกรธตอบ) และธรรมทาน (การให้พระสัทธรรม การแสดงธรรม การสนทนาธรรม) ซึ่งการให้ทานนั้นต้องให้ด้วยความกรุณา ให้ในสิ่งที่สมควรต่อผู้รับ
 
พี่กัลยาณีดีใจมากวันเกิดปีนี้ได้มากราบสถานที่ประสูติ พี่ๆน้องๆได้ฟังก็พลอยยินดีด้วย ช่วงอาหารค่ำทางโรงแรมเตรียมเค้กวันเกิดไว้ให้ ทุกคนร่วมใจกันร้องเพลงแฮปปี้เบิรด์เดย์ แม้ว่าเค้กอินเดียจะอร่อยสู้เค้กเมืองไทยไม่ได้ (มานะมาอีกแล้ว) แต่ก็เป็นเรื่องดี ๆ ที่น่าประทับใจ
 
พุธที่ 19 ตุลาคม 2554 (กุสินารา – พาราณสี)
 
เมื่อคืนพักที่โรงแรม Imperial  ได้นอนชั้นล่าง สะดวกดี แต่ต้องระวังยุงและแมลงเข้าห้อง หลังอาหารเช้า เดินทางไปกราบสถานที่ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ซื้อดอกไม้ไปบูชาพระสถูปปรินิพพาน และพระพุทธรูปปางปรินิพพานในวิหาร ได้ดอกไม้สวยแปลกตา คือดอกพุทธรักษาสีแดงดอกเล็ก กลีบเล็ก ซื้อเหมาทั้งหมด 20 รูปีส์ ได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อองค์พระพุทธรูปว่า จะศึกษาพระสัทธรรมเพื่อเจริญปัญญาให้ยิ่งๆขึ้นไป  ขากลับมีเด็กเอาเมล็ดสาละมาให้ 3 เมล็ด รับไว้ด้วยความขอบคุณ เพราะอยากได้อยู่แล้ว และซื้อดอกบัวจีนจิ๋ว สีเหลือง ที่ไม่เคยเห็นขายมาก่อน ไว้อีกกำหนึ่ง แบบเหมาหมด จากนั้นเดินทางไปกราบสถานที่ที่ถวายพระเพลิงพระสรีรางคาร  ณ มกุฎพันธนเจดีย์
 
สำหรับเมล็ดสาละที่ได้มานั้น เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย พอพ้นเรื่องน้ำท่วมแล้ว จึงมีเวลาพิจารณาลักษณะเมล็ดสาละ พบว่าน่าจะเป็นเมล็ดอโศกอินเดียที่ปลูกอยู่แถวนั้น แถมมีด้วงตัวเล็กๆที่อาศัยเนื้อเมล็ดกินเป็นอาหาร โตตามมา 3 ตัว เกิดความผิดหวัง ไม่พอใจ กังวลใจ เพราะไม่ใช่เมล็ดสาละ แถมได้ด้วงน้อยเป็นภาระ ให้ต้องวุ่นวาย คือจะเอาไปปล่อยก็เกรงว่าจะทำให้ด้วงนี้แพร่พันธุ์ต่อไปได้ อาจนำความเดือดร้อนไปให้ผู้อื่น จะต้องแยกเลี้ยงเป็นตัว ๆ จนกว่าเขาจะตายไปเอง แต่ยังขี้เกียจทำ เลยปล่อยทิ้งไว้ในถุงพลาสติกที่ใส่เมล็ดอโศก คิดว่าอากาศกับอาหารคงพอ หลังจากลืมไปเกือบ 2 เดือน นึกขึ้นได้ ปรากฏว่าด้วงน้อยตายเรียบร้อย ถึงตอนนี้โล่งใจ แต่อกุศลกรรม คือการละเลยไม่ใส่ใจที่จะช่วยชีวิตด้วงน้อย ไม่เมตตากรุณา ขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่ง เป็นเหตุให้ทำปาณาติบาตไปแล้ว นี่คือ โทษของความประมาทในการเจริญกุศลกรรม จะทำเรื่องดีๆ สิ่งดีๆ ต้องรีบทำ อย่าให้กิเลสอื่นมาขัดขวาง เพราะอาจไม่มีโอกาสอีกก็ได้
 
วันนี้มีสมาชิกท้องเสีย 2 คนในรถคันที่ข้าพเจ้านั่ง พี่คนแรกท้องเสียมากจนไปกราบสังเวชนียสถานไม่ไหว ส่วนพี่คนที่สองพอไหว ข้าพเจ้าชวนให้ไปกราบ แต่พอกราบเสร็จกลับมาถึงโรงแรม ก็เป็นลมพอดี ข้าพเจ้าได้รับรู้เป็นครั้งแรกว่า ลักษณะคนเป็นลมนั้นที่เขาว่าตัวเย็นเหนียวเป็นอย่างไร คุณหน่อยน้องพยาบาลซึ่งช่วยดูแลพี่ทั้งสองคนมาตั้งแต่กลางคืน บอกว่าควรให้ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ ให้ซื้อโค๊กให้ดื่ม ข้าพเจ้าถามแขกบริกรว่ามีโค๊กไหม แขกตอบว่าไม่มี มีเป๊บซี่ไหม ไม่มี มีใครบางคนในคณะบอกว่า มี อยู่ในตู้เย็น ข้าพเจ้าถือวิสาสะเปิดตู้เย็นในห้องอาหาร แขกรีบวิ่งมา พรรคพวกบอกว่าขวดนี้ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มคล้ายโค๊กแต่ยี่ห้อของอินเดีย ข้าพเจ้าพูดภาษาอังกฤษแบบไทยที่เขาเรียกว่า ทิงลิช พร้อมกับทำภาษาใบ้ด้วยว่า ขอหยิบไปก่อน เดี๋ยวเอาสตางค์มาให้ แขกรับรู้ ทำหัวเอียงไปข้างหนึ่ง ข้าพเจ้าวิ่งเอาไปให้พี่ที่เป็นลม ปรากฏลมสงบนิ่งไม่ไหวติงไปแล้ว โชคดีที่คณะเดินทางครั้งนี้มีคุณหมอและพยาบาลหลายท่านจึงช่วยกันดูแล  ข้าพเจ้ามองหาผู้ที่สนใจดื่มน้ำอัดลม มาเจอคุณยายแม่ชีอายุ 80 ปี ซึ่งลูกสาวที่น่ารักสองคนพานั่งรถเข็นมากราบสังเวชนียสถานร่วมกับคณะท่านอาจารย์ในครั้งนี้  ข้าพเจ้าถามพี่ลูกสาวว่าคุณแม่ชีดื่มน้ำอัดลมได้ไหม พี่ๆบอกว่าดื่มได้ พอข้าพเจ้าเอาไปให้ท่าน ท่านดีใจยิ้มหวานให้ เห็นแล้วชื่นใจ ช่างเป็นธรรมะจัดสรรจริงๆ คือสภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นตามปัจจัยปรุงแต่ง เราบังคับบัญชาไม่ได้จริงๆ สิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะทำ กลับไม่ได้ทำ แต่กลับไปทำอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน แม้ทำเรื่องใดก็ดีทั้งนั้น แต่ทุกสิ่งเป็นอนัตตา กะเกณฑ์ดังใจไม่ได้ ทำให้นึกถึงคำพูดท่านอาจารย์ที่เคยกล่าวว่า อย่าไปทำ อย่าไปหวังอะไรทั้งสิ้น สติ (หรือ สภาพธรรมใด) จะเกิดก็จะเกิดขึ้นเอง ปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วดับ ชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง... ศึกษาธรรมะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปวางแผนที่จะทำ หรือไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ไหนๆ ที่ไม่เหมือนชีวิตประจำวัน
 
ได้ไปเยี่ยมคลินิก 8 รูปีส์รักษาทุกโรค ที่อยากไปดูมานานแล้วเพราะทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระเทพฯ ทรงอุปถัมภ์ (ตัณหา ความติดข้องเป็นสาเหตุของทุกข์ ทุกข์ในที่นี้คือ ความสมหวัง ความผิดหวัง มาคราวก่อนๆ ผิดหวังทุกที ยังไม่ลืม คอยความสมหวังอยู่) คลินิกนี้อยู่ฝั่งตรงข้ามประตูวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ มีคนไข้พอสมควร ด้านข้างคลินิกมีร้านขายยาของหิมาลายา (Himalaya) ซึ่งเป็นร้านขายยาสมุนไพรมีชื่อของอินเดีย คล้ายอภัยภูเบศร์ของไทย เลยซื้อยาบำรุงสมองไปฝากคุณแม่ ซื้อกระเทียม และสะระแหน่ ฝากคุณพ่อและญาติมิตร น้องหมูซื้อลิปกลอสฝากเพื่อนๆ มาอินเดียกับทัวร์ ถ้าอยากซื้ออะไร อย่าลังเล ให้รีบซื้อ เพราะถ้ารอจะไปซื้อข้างหน้า บางทีก็ซื้อไม่ได้
 
ธรรมะจากการฟังเทปสนทนาธรรมของท่านอาจารย์ “การฟังบ่อยๆ แม้เรื่องซ้ำๆ ก็ช่วยเสริมปัญญา ความเข้าใจ... กุศลกรรมที่มีญาณสัมปยุต (เกิดพร้อมกับปัญญา) ทำให้ฟังธรรมะแล้วเข้าใจ... จิตที่ไม่ให้ เพราะไม่ได้สะสมการให้มา จึงควรสะสมการให้  ที่ขาดแคลน ก็เพราะไม่ได้สะสมการให้ จึงควรรีบให้  เสียดายและไม่ให้ ก็ให้พิจารณาว่า เพราะต้องการสิ่งนั้น หรือต้องการปัญญา ถ้าต้องการปัญญาก็ควรรีบให้... ท่านอกิติดาบส (พระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า) ขอพรจากท้าวสักกะเทวราช (ชาติหนึ่งของพระอนุรุทธ) ว่า ขอให้ทำทานได้โดยไม่มีความเดือดร้อน...ทุกอย่างก็ผ่านไปแล้ว ดีหรือชั่ว กุศลหรืออกุศล อะไรมากกว่ากัน...ตรงและจริงใจ หลับตา มีอะไรปรากฏ ไม่มีอะไรเลย แล้วมีเรา มีเขาอยู่ตรงไหน ไม่มีอะไรจริงๆ ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา อะไรที่มีจริงขณะนี้ มีแต่ปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าใจ ธรรมะทั้งปวงเกิดขึ้น แล้วดับไป ไม่เหลืออะไรจริงๆ”
 
วันนี้เป็นวันที่ห้าของการเดินทาง เพิ่งนึกได้ว่า เป้าหมายที่มาอินเดียครั้งนี้คือ มาปฏิบัติบูชา ตั้งใจไว้ว่าจะสำรวมกาย วาจา ใจ ตั้งใจฟังธรรม แต่พอได้มาแล้ว ก็ละทิ้งนิสัยดั้งเดิมไม่ได้ ยังเผลอเป็นลิง หยุกหยิก รื่นเริง บันเทิงใจ วุ่นวายไปกับสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ ไม่ได้สงบสำรวมอย่างที่ตั้งใจ ฟังธรรมก็หลับ ใจล่องลอยไป ขาดสติ อกุศลทั้งนั้น เห็นชัดว่าธรรมะบังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อพิจารณาบุญกิริยาวัตถุ 10 ได้แก่ ให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา ฟังธรรม แสดงธรรม ทำความเห็นให้ตรงตามความเป็นจริง อนุโมทนา อุทิศส่วนกุศล ช่วยเหลือผู้อื่น และอ่อนน้อม ก็เห็นว่ายังทำน้อยไป คงเป็นเพราะสัจจะ ความจริงใจที่จะละกิเลส ละอกุศล ยังไม่เพียงพอ ไม่มั่นคงนั่นเอง
 



THAIWARE Dharma | นำข้อมูลบทความออก !  นำข้อมูลออกพิมพ์ !

THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออก โดยการพิมพ์ (Print Article by Printable View)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ MS.Word (Export Article to MS.Word)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ ไฟล์เอกสาร PDF (Export Article to PDF Format Document)
 

THAIWARE Dharma | กลับสู่หน้าแรก ไทยแวร์ธรรมะ
 

 


 

 
 
ลำดับ ความคิดเห็น  ลำดับที่ : 2
รายละเอียด ความเห็น  ขอบคุณมากค่ะ
สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ มี 3 ตอน 3 ปีค่ะ คือ ปี 54 55 และ56
แต่ละตอนค่อนข้างยาว จึงขอขอบคุณคุณอรนุช และทุกท่านที่กรุณาอ่านจนจบ สาธุ
และขอขอบคุณคุณธรรณพ และทีมไทยแวร์ทุกท่านที่ให้โอกาสค่ะ
  โดย : สิริพร
  หมายเลขไอพี : 124.121.109.xxx
  โพสเมื่อ : May 5, 2014 เวลา 09:04:29
ลำดับ ความคิดเห็น  ลำดับที่ : 1
รายละเอียด ความเห็น  อนุโมทนากับกุศลที่แบ่งปันหัวข้ สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ (ประสบการณ์ ไปปฏิบัติธรรมที่ ประเทศอินเดีย) (ตอนที่ 1) มากค่ะ
  โดย : oranud
  หมายเลขไอพี : 61.90.49.xxx
  โพสเมื่อ : April 30, 2014 เวลา 22:18:42
 
 

 

  THAIWARE Dharma | ส่งความคิดเห็นจากทางบ้าน !
หัวข้อ เนื้อหา ข้อตกลง
  ความคิดเห็น* :

หมายเหตุ : กรอกรายละเอียดของบทความเข้าไป (ไม่รับ HTML Code) สามารถกด Enter ขึ้นบรรทัดใหม่ได้
  ห้ามโพสข้อความ !

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลต่อ ความมั่นคงของประเทศ

  ที่ส่อไปทางลามก อนาจาร หรือผิดศีลธรรม

  ที่ถือเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย

  ที่เป็นความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ผิดต่อ พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๑
  ชื่อ / อีเมล์* :

หมายเหตุ : "นาย สมชาย รักธรรม" หรือ "somchai.r@gmail.com"
  รหัสยืนยัน* :

 
ฉันยอมรับข้อตกลงที่กล่าวมา ภายในหน้านี้ ทั้งหมด