ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
 

 

รวมลิ้งค์ เว็บไซต์ธรรมะ ที่น่าสนใจ
  THAIWARE Dharma | รายละเอียด บทความ บทสวด บทคาถา ธรรมะ
เลือกขนาดตัวอักษร ขนาดตัวอักษร :  ก   ก   ก   ก 

สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ (ประสบการณ์ ไปปฏิบัติธรรมที่ ประเทศอินเดีย) (ตอนที่ 2)

 

    Share  
 

 

 


สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ (ประสบการณ์ การเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่ ประเทศอินเดีย) (ตอนที่ 2)
 
 
พฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2554 (พาราณสี)
 
วันนี้มีโอกาสกราบพระบรมสารีริกธาตุที่สารนาถ ที่วัดมูลคันธกุฎีวิหารใหม่ อยู่ติดกับธัมเมกขสถูป สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา ทราบจากคุณวีระยุทธและเว็บไซด์กูเกิลว่าพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้มาจาก Nagarjunakonda อยู่ทางใต้ของอินเดีย พบเมื่อทางการอินเดียจะสร้างเขื่อน Nagarjuna Sagar Dam  ส่วนพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระอัครสาวก ที่มหาโพธิสมาคม พุทธคยา นั้น พระบรมสารีริกธาตุ ได้มาจากพระสถูปเจดีย์ ในเมืองมหิยังกานา (Mahiyangana) ศรีลังกา และพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ได้จากสถูปเจดีย์ในหมู่บ้านสทัตหาร (Satadhara village) ใกล้เมืองสาญจี (Sanchi) รัฐมัธยประเทศ ของอินเดีย 
 
การกราบพระบรมสารีริกธาตุตามธรรมเนียมของศรีลังกา คือ พระภิกษุท่านจะวางผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนศีรษะของผู้ที่กราบทุกคน จึงต้องเข้าแถวต่อกันไปตามลำดับ ข้าพเจ้าได้รับความอนุเคราะห์ดอกบัว จากคุณสมบูรณ์ และน้องธนากรได้สละพวงมาลัยดอกดาวเรืองซึ่งมีอยู่พวงเดียวให้ ด้วยความขอบคุณยิ่งในความเมตตา (เป็นมิตร) กรุณา (ช่วยเหลือ) ทาน (การให้) และจาคะ (เสียสละ) พระท่านกรุณาฉายไฟฉายส่ององค์พระบรมสารีริกธาตุให้พวกเราได้ดูเป็นขวัญตา แต่ผลกรรมนำพา อกุศลวิบากบังเกิด ข้าพเจ้าไม่ได้เอาแว่นสายตาติดตัวมาด้วย  ได้แต่เดาว่าตรงนี้คือตำแหน่งที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อเหตุปัจจัยไม่มี แม้ได้เข้าไปใกล้ที่สุดแล้ว จ่ออยู่กับลูกตา ก็มองเห็นพระบรมสารีริกธาตุไม่ชัด สะกิดใจได้ว่า ขณะนี้ข้าพเจ้าได้พบสัปบุรุษที่ยิ่งกว่าสัปบุรุษ แต่ข้าพเจ้าก็เข้าใจพระสัทธรรมของพระองค์เพียงเงารางๆ และยังมีความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) ด้วยว่า ใช่หรือ จริงหรือ ต่อมาภายหลังเมื่อข้าพเจ้าได้อ่าน ปัจจัย 24 ในพระไตรปิฏก โดยอ่านผ่าน ๆ เพราะมีถึงหกเล่มหนาๆ ข้าพเจ้าจึงหายลังเลสงสัย ในเรื่องที่ว่า สติปัฏฐานสี่เท่านั้นที่เป็นทางสายเอกเข้าสู่ประตูพระนิพพาน เพราะสภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้นตามปัจจัยปรุงแต่ง ดังนั้น การระลึกถึงสิ่งที่ปรากฏในขณะปัจจุบัน ด้วยความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏ ณ ขณะนั้นๆ ซึ่งก็คือการเจริญสติปัฏฐาน จะเป็นเหตุให้ตัณหา ทิฏฐิ สาเหตุของทุกข์สัจจะ คือ สมุทยสัจจะ เกิดขึ้นไม่ได้ในขณะนั้น เพราะขณะที่ปัญญาซึ่งเป็นกุศลธรรมเกิดขึ้น อวิชชา และกิเลสต่างๆ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมเกิดขึ้นไม่ได้ การเจริญสติปัฏฐาน บ่อยๆ เนืองๆ จนปัญญาละอวิชชาได้สมบูรณ์จึงเป็นทางสายเอกจริงๆ ที่จะหลุดพ้นวัฏสงสารได้
 
ถึงตรงนี้ข้าพเจ้ากราบขอขมาพระรัตนตรัย กราบขอประทานโทษท่านอาจารย์และครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่ท่านพูดแล้วพูดอีก ก็ยังมีลูกศิษย์ที่ดื้อรั้นอยู่คนหนึ่ง พยายามหาทางเลี่ยง หาวิธีอื่นที่จะลัดกว่า สะดวกสบายกว่า จนลงทุนหาเองในพระไตรปิฎก แม้จะอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่อาศัยการฟังสนทนาธรรมจากท่านอาจารย์ประกอบด้วย ก็ทำให้พอเข้าใจพอจับใจความได้บ้าง เพราะพระสัทธรรมเป็นของจริง เป็นเหตุเป็นผล มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันทั้งหมด มีที่มาที่ไปชัดเจน ไม่ขัดกัน ไม่คลุมเครือ นึกเอาเองแต่งเอาเองไม่ได้ เป็นความจริงที่เป็นสากลตลอดกาล สาธุ สาธุ สาธุ สติปัฏฐานเป็นอนัตตา บังคับบัญชาให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ ต้องเพียรศึกษา ฟัง พิจารณา ไตร่ตรองธรรมะให้เข้าใจยิ่งขึ้น ๆ
 
เพลวันนี้ ท่านอาจารย์และคณะร่วมกันเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารพระภิกษุและสามเณรชาวศรีลังกาและคล้ายๆชาวทิเบต ประมาณร้อยรูป ที่มหาโพธิสมาคม สมาคมนี้ก่อตั้งโดยท่านธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ผู้บุกเบิกฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ผู้ที่ทำบุญคุณอย่างใหญ่หลวงให้ชาวพุทธทั่วโลก จนสามารถมากราบสังเวชนียสถานทั้งสี่ได้อย่างสะดวกสบายทุกวันนี้ สาธุ มาคราวนี้ อาจารย์ดวงเดือนสั่งทำย่ามมา 250 ใบ แบ่งถวายที่สารนาถ และพุทธคยา และมีผู้ร่วมฝากสิ่งของมาถวาย เช่นเครื่องกันหนาว รองเท้าแตะ ยา และอื่นๆ ทุกคนเลยเอาใส่ลงในย่ามถวายพระเณร ขออนุโมทนาในกุศลกับทุกท่าน ข้าพเจ้ามาอินเดียเคยแต่ทำบุญทำทาน ทอดผ้าป่าวัดไทย เลี้ยงอาหารแขก แต่ครั้งนี้ได้ร่วมถวายภัตตาหารที่วัดศรีลังกา ก็ปลื้มใจที่ได้ทำบุญในบวรพุทธศาสนากับพระเณรชาวต่างชาติ ช่วยสนับสนุนส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้นในประเทศอินเดียและใกล้เคียง
 
หลังจากเวียนเทียนรอบธัมเมกขสถูปแล้ว ก็สนทนาธรรมที่สนามหญ้าข้างพระสถูป มีท่านอาจารย์ อาจารย์นิภัทร อาจารย์กุลวิไล อาจารย์อรรณพ อาจารย์ธิดารัตน์ อาจารย์ธีรพันธ์ อาจารย์คำปั่น ผู้ถามและผู้เข้าร่วมสนทนา ดังนี้
         
 ( สนทนาธรรมที่ธัมเมกขสถูป ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สารนาถ และที่สนามหญ้าในโรมแรม The Clarks พาราณสี )
 
ไม่ใส่ใจ คือ ไม่ติดข้อง แต่ เรา (ยังมีตัวตนของเรา ตัวตนของเขา มีเรา เขา มีของเรา ของเขา) ละความติดข้องไม่ได้ รู้เดี๋ยวนี้ รู้สิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ (ระลึกที่ปัจจุบัน)
 
ธรรมะ เป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม อภิธรรม คือ ทรงแสดงความจริงของธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป นำกลับมาไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นแล้วดับไป จึงเป็นทุกข์ (ทนอยู่ได้ยาก) ซึ่งทุกข์นี้เป็นทุกขสัจ ส่วนทุกข์อีกอย่าง คือ ทุกขเวทนา (ได้แก่ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ สำหรับทุกขสัจนี้รวมทั้งหมด คือรวมทุกขเวทนา และสภาพธรรมทุกชนิดที่เป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
 
ความเข้าใจที่มั่นคง จึงประจักษ์ได้ เข้าใจคือรู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ กลิ่นมีจริง เป็นรูป (รูปธรรม) สภาพที่รู้กลิ่น เป็นนาม (นามธรรม) ขณะที่ได้กลิ่น ธรรมะปรากฏ
 
สนทนาธรรมวันนี้ข้าพเจ้าจดมาได้นิดเดียว เพราะมัวถ่ายรูปนกแก้วสีเขียวที่เกาะบนยอดพระสถูป ถ่ายรูปเมฆรูปท้องฟ้าสีสวยยามเย็น แถมแอบคุยธรรมะกับน้องที่นั่งใกล้ ๆ คืออยากช่วยไขข้อข้องใจในเรื่องธรรมะให้น้อง เผื่อน้องจะเข้าใจและสนใจศึกษาธรรมะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักตัวเองว่า แม้พื้นฐานธรรมะอย่างง่ายๆ ซึ่งดูเหมือนรู้แล้ว แต่ความจริงข้าพเจ้ากลับไม่รู้ไม่เข้าใจ ที่เคยคิดว่าตัวเองระดับประถมแล้ว ที่แท้อนุบาลก็ยังไม่ผ่าน
 
คืนนี้มีงานเลี้ยงแสดงความขอบพระคุณท่านอาจารย์ ตัวแทนสมาชิกในรถบัสแต่ละคันมากล่าวแสดงความรู้สึก ความคิดเห็นในการเดินทางมาครั้งนี้ และมอบช่อดอกไม้ มีการแสดงเต้นระบำซึ่งใส่ลูกกระพรวนไว้ที่ข้อเท้าของศิลปินหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ข้าพเจ้าชอบมาก เสียงจังหวะลูกกระพรวนที่ดังจากการบังคับเท้า การเต้นในจังหวะต่างๆ สนุกสนานเพลิดเพลินจริงๆ ข้าพเจ้าชวนน้องรัตนาไปยืนใกล้ๆเวที และถ่ายภาพเก็บไว้
 
น้องหมูแนะนำให้รู้จักคนชง มัสล่า จาย หรือ มาซาล่าที Masala Tea คือ ชานมที่ใส่เครื่องเทศจำพวกเผ็ดร้อนหรือมีกลิ่นหอม เช่น ขิง พริกไทย กระวาน กานพลู อบเชย เป็นต้น ที่ทำให้ติดใจรสชาติมาก แล้วชวนให้ชิมจนข้าพเจ้าติดใจตาม (เป็นโลภะที่เกิดจากการชักชวน) จนกระทั่งสั่งชานี้หลังอาหารแทบจะทุกมื้อ สรรพคุณคือ อร่อย ทำให้ท้องไส้สบาย ทดแทนกาแฟได้โดยไม่มีอาการปวดหัวเพราะติดกาแฟ ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า กาแฟเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย (เป็นปัจจัยให้จิตจดจ่อเป็นพิเศษ อยากดื่มกาแฟ) จนกระทั่งเป็นอารัมมณูปนิสสยปัจจัย (เป็นปัจจัยที่ทำให้ขวนขวายหาซื้อกาแฟมาดื่มเป็นประจำ) น้องหมูบอกวิธีทำว่า ให้ต้มนมให้เดือด แล้วใส่ขิง ถ้าจะให้อร่อยขึ้นก็ใส่ใบกระเพราด้วย ที่ติดใจก็เพราะที่นี่เขาใส่กระเพราด้วย เมืองพาราณสี เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมานานตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อาหารการกินย่อมเลิศกว่าที่อื่น จากนั้นจึงใส่ชาอินเดียชนิดผงลงไปต้มอีกที แล้วเทชาใส่ถ้วยเสิร์ฟได้เลย ใครชอบหวานก็ใส่น้ำตาล  พูดถึงชานมแล้ว คนอินเดียชอบดื่มมาก มีขายทั่วไปใส่ถ้วยเล็กๆ เรียก กลัมจาย (จาย หรือ จ้าย หรือ จ๋าย แปลว่า ชา สำเนียงต่างกันตามท้องถิ่น ส่วน กลัม แปลว่าต้มเดือด) และทั้งสองจาย น่าจะเป็นจายเดียวกัน เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงประยุกต์ชาอังกฤษ-อินเดีย โดยใส่ขิงแก่ที่หั่นบางหลายๆชิ้นตามชอบลงในภาชนะชงชา ใส่ถุงชา เติมน้ำร้อน นวดถุงชาเบาๆ ให้สีชาออกมาไม่เกิน 5 นาทีเพื่อไม่ให้ท้องผูก รินแต่น้ำใส่ถ้วยชาแล้วเติมน้ำตาล นมสดตามชอบ ต่อมาขี้เกียจหั่นขิง เลยใช้ขิงผงแบบซองๆ เทใส่ถ้วย ใส่ถุงชา เทน้ำร้อน นวดถุงชาไม่เกิน 5 นาทีเอาถุงชาออก ใส่นม รสชาติพอใช้ได้
 
ในช่วงการเดินทางครั้งนี้ เป็นช่วงมหาอุทกภัย ทางการบอกว่าหนักสุดในรอบ 50 ปี แต่คุณป้าที่อยู่อยุธยา อายุ 88 ปี บอกว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอ น้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน ข้าพเจ้าเลยเหมาเป็น มหาอุทกภัยในรอบ 100 ปีแทน คณะเดินทางที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่างก็โทรถามข่าว ติดตามข่าวกันเป็นระยะๆ เมื่อข้าพเจ้าทราบข่าวจากพี่นงลักษณ์ ซึ่งบ้านอยู่ใกล้โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ริมคลองประปา ว่าคลองประปาแตก น้ำจะท่วม ก็เกิดทุกขเวทนา คือทุกข์ใจทันที มีความวิตกกังวลในเรื่องนี้เป็นระยะๆ เพราะบ้านก็อยู่ใกล้คลองประปา และแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะรู้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ตามกรรมของแต่ละคน บังคับบัญชาไม่ได้ ก็ไม่อาจละคลายความกังวลที่ปรากฏเป็นระยะๆ ไปได้ จนกระทั่งกลับถึงประเทศไทย ซึ่งเรื่องราวต่อไป ก็เป็นไปอย่างที่ทุกท่านได้ทราบแล้ว
 
ศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2554 (พาราณสี – พุทธคยา)
 
ที่สนามหญ้าของโรงแรม The Clarks ฟังสนทนาธรรมระหว่างท่านอาจารย์ และพระสีวลี เถระ พระภิกษุชาวศรีลังกา องค์ที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาให้พวกเรากราบ ในตอนแรกสนทนากันโดยยังไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง จึงฟังไม่ชัด ท่านอาจารย์พูดเบามาก จึงนึกขึ้นมาว่า แม้เสียงมากระทบ หากสัญญา (ความจำ) ไม่มีในคำพูดแต่ละคำ สังขาร คือความนึกคิด ก็ปรุงแต่งจับใจความในคำพูดต่อไปไม่ได้ ก็ฟังไม่รู้เรื่อง รู้แต่เพียงเสียงโดยรวมว่า ท่านสนทนากันเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ภายหลังใช้ไมค์แล้วพอจับใจความมาได้ดังนี้ 
 
ท่านอาจารย์ (อจ.) - รู้สิ่งที่มีจริงขณะนี้ เดี๋ยวนี้  (ขณะตั้งใจฟังนั้น จิตเกิดดับเร็วมาก จึงจับใบหน้าท่านอาจารย์มาเป็นอารมณ์ด้วย แล้วนึกคิดปรุงแต่งอย่างรวดเร็ว ขอกราบประทานโทษท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าพิจารณาอนิจจัง ความไม่เที่ยงแห่งรูป ซึ่งความจริงสิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงสี และเราเขาก็เป็นเพียงองค์ประกอบของธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นขันธ์ห้า – รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอายตนะหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อรู้สึกตัวจึงตั้งใจฟังต่อ)
 
พระสีวลี (พส.) - ตำราที่มีต่างๆ บางครั้งยิ่งทำให้สับสน ไม่แท้จริงเท่ากับเล่มที่ท่านอาจารย์เขียน เข้าใจได้ดี สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แต่ธรรมะทั้งปวงเป็นอนัตตา ทุกสิ่งผ่านไป ดังสายน้ำไหล ไม่หวนคืน
 
อจ. – มีการศึกษา 3 ระดับ และต้องผ่านไปเป็นขั้นๆ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในทุกขณะมีการสะสมของกิเลส อวิชชา ทีละน้อยๆ ถ้าไม่มีสติปัฎฐาน ก็จะปฏิปัตติ (ถึงเฉพาะ หรือปฏิบัติ) ไม่ได้ ปัญญาจึงจะถึงความจริงของธรรมะได้ โลภะเหมือนเพื่อนสนิทของเรา ที่เป็นศัตรูตัวร้ายกาจจริงๆ "Try to perform functional Panna" พยายามอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น คือมีสัมมาสติ (สติปัฏฐาน) ก็จะเป็นปัจจัยให้สัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) เกิดขึ้น... ความฝันคือการนำสัญญา (ความจำ) ที่มีการปรุงแต่งมาคิด... ปฏิปัตติ เกิดเพราะปัญญา ไม่ใช่เพราะเจตนา (จงใจ) หรือปริยัติ (การศึกษา) right understanding -> success of investment ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงจะทำให้ประสบผลสำเร็จในการศึกษาธรรมะ constant -> Panna will gradually develop. Because it is a reality. ความมั่นคงในการฟังธรรมก็จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะธรรมะคือสภาพที่เป็นจริง
 
ขณะนี้คือขณะที่ควรรู้ความจริงของธรรมธาตุ (object) ที่ปรากฏ ไม่ใช่ขณะอดีต หรืออนาคต สมาธิที่ไม่รู้ความจริงของขณะปัจจุบัน ไม่ใช่สัมมาสมาธิ
 
พส. – กิเลสเหมือนโคลน ที่ห่อหุ้มเพชรหรือทอง คือปัญญา  เราต้องล้างแล้วล้างอีก (clean and clean) ไปเรื่อยๆ แสงเพชร ก็จะปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ
 
หลังการสนทนา เห็น ดร.วีระ เอาแปลนร่างเจดีย์มาปรึกษาท่านพระสีวลี เถระ จึงรีๆรอๆ ด้วยความอยากรู้ตามนิสัยที่สั่งสมมา ทราบว่า มีผู้สังเกตเห็นว่าผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เราไปกราบกันเมื่อวานนั้น มีรอยร้าว ทางมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จึงขออนุญาตสร้างผอบใหม่แทนผอบเก่าที่ร้าว ข้าพเจ้า พี่หมูและน้องจากราชบุรี ขอร่วมสร้างด้วย เพราะในช่วงที่บอกบุญ อาจไม่มีจังหวะได้ไปร่วมบริจาคที่มูลนิธิฯ ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาที่ ดร.วีระ กรุณาเป็นธุระให้ในเรื่องนี้
 
วันนี้ระหว่างที่คณะบางส่วนฟังสนทนาธรรม อีกส่วนก็ไปช้อปปิ้งตามอัธยาศัย น้องคนหนึ่งได้ชุดปัญจาบี (Punjabi suit เป็นเสื้อแขกตัวยาว มีกางเกงขายาว ใส่ได้ทั้งหญิงและชาย) มีลวดลายสีสวยน่าใส่ เนื้อผ้าดี ราคาไม่แพง ประมาณ 500 รูปีส์ น่าซื้อ เสียดายที่ไม่ได้ไปด้วย  ตอนทานอาหารเที่ยง พระสีวลี เถระ กับเณร รับนิมนต์มาฉันภัตตาหารในโรงแรมด้วย อาหารวันนี้มีไอศกรีม อยากถวายท่าน แต่ไม่สะดวกจะถวายด้วยตัวเอง ข้าพเจ้าขอให้น้องผู้ชายที่นั่งใกล้ๆ โต๊ะพระ ช่วยตักไอศกรีมถวายให้ด้วย พอดีบริกรนำไปถวายแล้ว จึงส่งสัญญาณข้ามโต๊ะขอบคุณน้องที่กรุณาเป็นธุระให้ หลังอาหารเที่ยงเราก็เตรียมตัวเดินทางต่อ บริเวณที่จอดรถมีขอทานเช่นเคย แต่วันนี้มีลุงวณิพกกับลิงสองตัว ลุงเล่นดนตรี ลิงเต้นระบำ มีคนให้กล้วยมาหวีหนึ่ง ลุงให้ลิงก่อน แล้วแจกขอทานหนุ่มพิการที่อยู่ใกล้ๆ เมตตากรุณาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ธรรมะเป็นสากล บ่ายนี้ท่านอาจารย์และน้องสาวมานั่งรถคันที่พวกเรานั่ง ท่านกรุณาสลับนั่งรถทุกคันเพื่อให้ลูกศิษย์ได้ชื่นใจกันทุกคน ค่ำๆ รถบัสแวะจอดให้เข้าห้องน้ำและดื่มกลัมจาย ข้าพเจ้าคุยกับคุณน้าชาวอินเดียที่พาคุณแม่มาแวะพักเช่นกัน ทราบว่าเราอยู่ที่เมืองออรังกาบาด (Aurangabad) ซึ่งเป็นเมืองระหว่างพาราณสีและคยา (คนละเมืองกับถ้ำอชันตาและเอลโลร่า) คงถึงคยาดึกมาก กว่าจะทานอาหารเย็น เข้าห้องพัก อาบน้ำ นอน ยิ่งดึก ถ้าตอนเย็นให้ทานข้าวกล่องในรถก็จะดี พอถึงที่พักก็เข้านอนได้เลย จะได้ไม่เพลีย และไฟธาตุก็ไม่พิการ
 
ขออนุญาตนำเรื่องส่วนตัว ที่ข้าพเจ้าอยากเล่าสักนิด มาเล่าให้ฟังสักหน่อย เรื่องแรก คือ ข้าพเจ้าเป็นคนกลัวผี มีประสบการณ์เจอผีจริง ผีปลอม มากมาย ผีจริงที่กลัวมากมักจะมาในรูปเสียงที่ผิดปกติ อุทิศส่วนกุศลให้แล้ว ก็ยังเอาไม่อยู่ ไม่ไปเสียที ส่วนผีปลอม เกิดจากความนึกคิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน รำคาญใจเมื่อต้องอยู่ในสถานที่หรือบรรยากาศที่ชวนให้นึกถึงผี ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าศึกษาฟังธรรมะมากขึ้น เข้าใจในเรื่อง อริยสัจสี่ ภพภูมิ กฎแห่งกรรม พรหมวิหารสี่ บุญกิริยาวัตถุ 10 ฯลฯ มากขึ้น ความกลัวผีก็ลดลงไปเรื่อย ๆ  ข้าพเจ้าพบว่า การพยายามเจริญบุญกิริยาวัตถุ 10 ให้ครบทุกวัน ก็เป็นเครื่องปกป้องภัยไม่ให้จิตใจหวั่นไหวไปกับสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาได้เป็นอย่างดี มาคราวนี้ ที่พาราณสีก็เห็นเพียงชายส่าหรีสีขาวไหวๆ แว๊บ ๆ หนสองหน แต่ไม่กลัว ที่อื่นๆ ไม่ได้รับรู้เลย ส่วนในภาพถ่ายที่ปรากฏดวงกลมๆ คล้ายละอองน้ำ พบในบางสถานที่ ซึ่งเรื่องนี้ บางท่านก็ว่าเป็นวิญญาณ บางท่านก็ว่าเป็นอุบัติเหตุทางเทคนิคของกล้องถ่ายรูป เมื่อฟังธรรมะมากขึ้น ก็รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นสีเท่านั้นเอง
 
เรื่องที่สอง คือ ข้าพเจ้ามีอกุศลจิตและอกุศลกรรม ต่อท่านผู้หนึ่ง คราวนี้ได้เดินทางมาด้วยกัน เมื่อเจอกัน ท่านก็มีไมตรีจิตต่อข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกละอายใจ และมานึกขึ้นว่า ข้าพเจ้าเป็นอันธพาลโดยแท้ ท่านผู้นี้ไม่ได้รู้จักข้าพเจ้าเลย แต่ข้าพเจ้าก็ไปหาเรื่องโกรธหาเรื่องว่ากล่าวลับหลังได้ เพราะมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง) และมานะของข้าพเจ้า พอรู้ว่าใครคิดเห็นไม่เหมือนเรา ก็จะคิดว่าความเห็นของเราถูกต้องกว่า ดีกว่า แล้วพาลโกรธ ไม่พอใจ หาเรื่องนินทาว่าร้ายเขา (ไม่กล้าว่าต่อหน้า) โทสะ มานะ ทิฏฐิ  เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้นตามอายุของข้าพเจ้า ยิ่งแก่ ยิ่งยึดมั่น ยิ่งถือมั่น แต่ก่อนนี้เมื่อเกิดขึ้น จะเกิดนาน ไม่รู้ตัว จนเพื่อนบอกว่า อย่าไปเครียด จึงสะกิดใจได้ ต่อมามีโอกาสศึกษาและฟังธรรมะมากขึ้น สภาพธรรมเหล่านี้ค่อยๆ ลดลง จะรู้ตัวเร็วขึ้น จะวิเคราะห์หาสาเหตุ ซึ่งก็มาจากความติดข้อง ไม่มีสติปัญญาในขณะนั้น ก็ทุเลาเร็วขึ้น บางครั้งยังฟุ้งกลับไปหมกมุ่นในเรื่องเหล่านี้อีก ก็พยายามวิเคราะห์เจาะลึก และเปลี่ยนไปสนใจเรื่องอื่น หรือ ถอยออกมา ยอมแพ้ (ยอมแพ้จริงๆ คือไม่สู้ต่อ) ท่านใดที่ข้าพเจ้าล่วงเกินไปแล้ว และท่านที่จะถูกล่วงเกินในโอกาสต่อไป ข้าพเจ้าขอประทานโทษ มา ณ ที่นี้ เพราะตั้งใจทำดีได้ไม่นาน มีปัจจัยปรุงแต่ง ก็เผลอไปอีกแล้ว
 
ส่วนเรื่องที่สาม คือ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ธิดารัตน์ ในเรื่องเกี่ยวกับคุณแม่ ซึ่งมีอาการของอัลไซเมอร์ คือ หลงลืมเกินวัย ข้าพเจ้าเป็นห่วงท่านว่าเวลาใกล้จะจุติจิตเกิด ละจากภพนี้ จะไม่สามารถไปสู่สุคติภูมิได้ เพราะไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว จำอะไรไม่ได้แล้ว อาจารย์บอกว่า อย่ากังวล เราไม่สามารถรู้ได้ ณ ขณะนั้น ท่านอาจรู้ตัวดี มีสติ ระลึกถึงกุศลธรรมก็ได้ เพราะสภาพธรรมเกิดตามปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอนัตตา ฟังแล้วก็สบายใจขึ้นว่า คุณแม่ยังมีโอกาสที่ดีได้ เมื่อนึกถึงพระเจ้าอโศก ที่ทรงอุปถัมภ์ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบมาถึงทุกวันนี้ ก่อนพระองค์สวรรคต ทรงขัดพระทัยที่ขุนนางไม่ทำตามพระบัญชา จุติจิตเกิด จึงไปทุคติภูมิ แต่ไม่นาน กุศลกรรมที่ทรงกระทำไว้ก็เป็นเหตุให้พระองค์จุติแล้วปฏิสนธิในสุคติภูมิ ตอนนี้อยู่ในสวรรค์แล้ว ดังนั้นข้าพเจ้าควรดูแลคุณแม่ให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถกระทำได้ พยายามให้ท่านได้มีโอกาสเจริญกุศลบ่อยๆ โดยการพาไปทำบุญ ให้ร่วมอนุโมทนาบุญ ให้อุทิศส่วนกุศล ชักชวนให้กล่าวคำสรรเสริญพระรัตนตรัยเป็นภาษาไทยทุกวัน คุยเรื่องธรรมะ และไม่ทำให้ท่านขัดใจเพื่อลดการสะสมโทสะของท่าน บุญกุศลที่ท่านสร้างสมไว้ ก็คงเป็นเหตุปัจจัยให้ท่านไปสุคติภูมิได้ในที่สุด คิดได้ดังนี้ ก็หายกังวลใจ
 
เสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2554 (พุทธคยา)
 
สนทนาธรรมที่โรงแรม The Royal Residency ในระหว่างที่คณะเดินทางบางส่วนเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา พอสรุปได้ดังนี้
 
ถาม – เพื่อนเตรียมชุดมาอาบน้ำในแม่น้ำคงคา.........
 
อจ. – เรื่องของคนอื่น เดี๋ยวนี้ เมื่อไรจะสนใจใส่ใจธรรมะที่มีอยู่ พูดเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็ได้ แต่รู้ว่าเป็นธรรมะ มีเสียงจริงๆ กำลังปรากฏ การที่คิดเป็นคำ มีการจำเสียง คิดในใจ แล้วก็มีเสียงดังออกมา ค่อยๆ คิด ไม่ต้องไปคิดถึงอดีต หรือ อนาคต สิ่งที่ปรากฏทางตาชั่วคราว “ขณะที่ธรรมะใดธรรมะหนึ่งกำลังปรากฏ ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมะนั้น” เพราะไม่รู้ จึงติดข้อง ละไม่ได้ ขณะที่เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ ขณะที่คิดก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ จึงละอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ธรรมะที่ปรากฏ... “มือที่มองไม่เห็น”  ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมือ (เช่น ตำน้ำพริก ... เป็นต้น) คือมือที่มองเห็น แต่ผลของกรรม ทำได้ทุกอย่าง เช่น เดินตกกระได น้ำท่วม ... เป็นต้น คือ มือที่มองไม่เห็น วิบากที่เกิดเพราะกรรมให้ผล คือ มือที่มองไม่เห็น ... ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้ด้วย ... พระมหากรุณาธิคุณ ยังไม่เท่าพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ การไม่ฟัง ไม่อ่าน แล้วรู้อะไร ถ้ารู้ถูกต้อง ก็เป็นพระธรรม ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ แล้วจะไปรู้อะไร ... ที่เกิดก็ไม่ใช่เรา ที่ตายก็ไม่ใช่เรา ... คำใดที่ไม่เป็นประโยชน์ แม้เป็นความจริง ก็เป็นสื่อให้คนอื่นอกุศลไปด้วยได้ อาจสามารถทำให้คนอื่นเศร้าหมองไปด้วยได้ ความคิดมั่นคง (อธิษฐานบารมี) หรือยัง มีความคิดจะละอกุศล (สัมมัปปธาน) หรือยัง แล้วต้องมีสัจจะ (จริงใจ) เห็นโทษของอกุศล เราฟังธรรมวันนี้ ก็ต้องมีความจริงใจ ที่จะละอกุศล ธรรมะที่ปรากฏขณะนี้ เป็นเพียงให้อาศัยระลึกถึงความจริง
 
อาจารย์คำปั่น – ฟังเพื่อเข้าใจ เพียงเท่านั้นหรือ หรือเพื่อจะเพียรเจริญกุศลอื่นๆด้วย  กุศลธรรม คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพื่อทำลายอกุศลทั้งหลาย การให้ทาน ขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น เข้าใจธรรมะ ก็เป็นกุศล...ยุติธรรม คือธรรมที่สมควร ธรรมที่ถูกต้อง ซึ่งไม่พ้นจากความดี กุศล ซึ่งธรรมะในที่นี้คือ กุศลธรรม สภาพธรรมที่ดีงาม ไม่ใช่ อธรรม...ธรรมะ คือทุกอย่างทุกประการที่มีจริง
 
อจ. – อกุศล คือ โกรธ ต้องการ ติดข้อง ความไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรมะ ดังนั้น เมื่อรู้แล้วจึงเจริญกุศลได้... ธรรมะแม้ปรากฏ ก็ไม่เป็นอิสสระ เพราะต้องเป็นไปตามปัจจัย... กตัญญูบุคคล คือรู้คุณของความดี เมื่อชื่นชมผู้ที่ทำความดี แล้วจะทำความดีไหม ดีแต่ไม่เข้าใจธรรมะ และไม่ดีแต่เข้าใจธรรมะ เราอยู่ในโลกของความคิด
 
ถาม – ท่านอาจารย์ต้องเปลี่ยนโรงแรมตอนตีสอง เพราะเหม็นสีมาก แต่ก็เมตตาไม่โกรธ (เจ้าของโรงแรมเชิญท่านอาจารย์และคณะบางส่วนไปพักเพื่อเป็นสิริมงคลแก่สถานที่ โรงแรมกำลังสร้างจึงมีกลิ่นสีที่เพิ่งทาใหม่)
 
อจ. – ไหนๆ ก็ลำบากอยู่แล้ว ยังไปเดือนร้อน (ใจ) อีก ยังไปทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทำไม ... นิมิตของความโกรธ คือ สิ่งที่เหลือของความโกรธ เห็นเป็นนิมิต จึงมีความจำ ความคิด นิมิตของนก (นกบินไปแล้ว) ก็คือสิ่งที่เหลือของรูปนก ตั้งแต่เกิดจึงอยู่แต่ในโลกของนิมิต ความไม่รู้จึงทำให้ติดข้องในนิมิต ดอกกุหลาบก็สวย ดอกไม้ก็สวย จำไว้เป็นนิมิต ทั้งๆ ที่สิ่งปรากฏนั้นดับไปแล้ว... ความฝัน คือ ความจำ ความคิด และการปรุงแต่ง...รู้คำ แล้วเข้าใจคำนั้นอย่างแท้จริงหรือเปล่า... กุศล เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะวงศ์ตระกูลก็ได้ เช่น ต้องทำดีเพื่อรักษาวงศ์ตระกูล คือคิดถึงตนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับตน เป็นอัตตาธิปไตย  เห็นคนอื่นทำดี ก็ทำดีด้วย คือคิดถึงคนอื่นๆ เป็นโลกาธิปไตย เห็นธรรมะ เห็นว่าเป็นธรรมะแท้ๆ ฝ่ายดีที่ควรเจริญ คือคิดถึงธรรมะ เป็น ธรรมาธิปไตย กุศลจึงเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุ 3 ประการดังกล่าว
 
มิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ผิดเพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  มานะเป็นสภาพสำคัญตน (เช่น มีการเปรียบเทียบ มีการวิจารณ์ ความภาคภูมิใจ ทะนงตน เป็นต้น) แม้เราเห็นว่า (คิดในใจว่า) คนอื่นมีมานะ เราก็มีมานะอ่อนๆ ถ้ามานะรุนแรง ก็แสดงออกมาทางกาย วาจา  มานะไม่เกิดพร้อมกับทิฏฐิ แต่เกิดพร้อมโลภะ เราเกลียด เรากลัวโลภะ  แต่ก็ชอบ เราต้องเริ่มจากรู้ว่าโลภะเป็นธรรมะ ยังไม่ต้องละ แต่ให้รู้ว่าเป็นโลภะก่อน "หวัง" แค่คิดหวัง ก็เป็นโลภะ ฟังธรรมตามกาล ฟังเพื่อเข้าใจถูก แล้วจึงละได้ ใครว่าอะไร เราฟังไหม โกรธไหม (ข้าพเจ้าตอบว่าไม่โกรธ แต่จะพิจารณาก่อนว่าเขาพูดถูกไหม ถ้าพูดถูกก็ไม่โกรธ ท่านอาจารย์ไม่พูดต่อ คงให้ข้าพเจ้าสะกิดใจเก็บเอามาคิดต่อเอง ข้าพเจ้ามานึกทบทวนได้ภายหลังว่า ทุกครั้งที่มีคนว่าอะไร ข้าพเจ้าโกรธ ไม่พอใจทุกครั้ง แต่มันไวมากจนข้าพเจ้าไม่รู้ตัว นึกว่าไม่โกรธ ยกเว้นที่โกรธมากๆจนรู้ตัวว่าโกรธ ถ้าเปรียบกิเลสเหมือนยาพิษ โลภะ พิษน้อย คลายช้า โทสะ พิษมาก คลายเร็ว แต่โมหะ พิษมาก และคลายช้า)
 
ถาม – เพราะเหตุใด ท่านอาจารย์จึงมาอินเดีย
 
อจ. – อินเดียมีอะไร เพราะที่นี่ไม่มีในที่ไหนๆ แม้ในโลกสวรรค์ สิ่งที่ได้ฟังจากผู้ทรงตรัสรู้ เป็นปริยัติ ฟังแล้วเข้าใจ มีสติเกิดรู้สภาพธรรมตรงตามที่ฟัง เห็นพระคุณของพระผู้ทรงตรัสรู้
 
อาจารย์นิภัทร อาจารย์อรรณพ อาจารย์ธีรพันธ์ อาจารย์คำปั่น – อินเดียเป็นเมืองที่บุคคลพิเศษมาอุบัติขึ้นเพื่อยังโลกนี้ให้สว่างไสว ความเข้าใจธรรมะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ...ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นธรรมะที่ทำให้เนิ่นช้า ไปไม่ถึงไหน ...การมาอินเดีย ผู้ที่ไม่เข้าใจ ก็ไม่ซาบซึ้ง ... สิ่งที่ได้ฟัง ต้องคิดว่าจริงหรือเปล่า จึงเชื่อ เช่น "อนัตตา" เห็นเป็นอนัตตา รู้จักเห็นหรือยัง เมื่อพูดคำว่า 
เห็น" "โต๊ะ" รู้จักโต๊ะหรือยัง เราพูดทุกคำ เรารู้จักจริงหรือเปล่า เข้าใจคำนั้นจริงๆหรือเปล่า   พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ไม่ใช่เพื่ออามิสบูชา (ถวายเครื่องสักการะ) แต่เพื่อให้เราเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อเจริญกุศลธรรม
 
ในช่วงบ่ายข้าพเจ้าตามไปช่วยคุณฟองจันทร์จัดดอกไม้บูชาพระที่มหาโพธิสมาคม โดยช่วยแกะห่อของ เสร็จแล้วก็ขอตัวไปที่พระศรีมหาโพธิ์ตามลำพังเพราะอยู่ใกล้กัน ข้าพเจ้าจะไปเก็บใบพระศรีมหาโพธิ์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเตรียมกล่องมาใส่ใบโพธิ์เพื่อป้องกันใบหักเสียหาย แต่…ไม่มีเลย แหงนมองขอใบแห้งๆ สักใบ ก็มีใบร่วงลงมาด้านข้างใกล้ๆ ข้าพเจ้า ยังไม่ทันจะเอื้อมมือไป หนุ่มพม่านุ่งโสร่งที่นั่งแถวนั้น พุ่งตัวมาเก็บไปได้อย่างรวดเร็ว ก็ไม่ว่าอะไร เขาอาจไม่ได้มาบ่อยอย่างเรา อยากได้ให้เขาไป โทสะ คือ ความไม่พอใจ ปรากฏขึ้นเพราะความผิดหวังเล็กน้อย ข้าพเจ้าเหลือบไปเห็นคนไทยที่นั่งข้างๆ อ่านหนังสืออยู่ ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าอ่านเสร็จแล้วและคิดว่าจะเอามาแจกเหมือนกัน พอดีน้องเต้ยเอามาแจกคนไทยที่นั่งอยู่รอบๆ พระศรีมหาโพธิ์แล้ว จึงขออนุโมทนากับท่านผู้แจกและท่านผู้อ่านด้วย  ข้าพเจ้ายังไม่ละความพยายาม เดินมองหาใบโพธิ์ต่อ ในที่สุดข้าพเจ้าก็กลับมาพิจารณากิ่งพระศรีฯ กิ่งเล็กๆ 2 กิ่ง ที่วางอยู่ตรงที่นั่งใกล้ๆ จริงๆ เห็นอยู่ตรงนั้นตั้งแต่แรกแล้ว ไม่มีใครสนใจ เพราะทุกคนอยากได้แต่ใบ ข้าพเจ้าแหงนมองกิ่งบนต้น แล้วมองกิ่งที่วางอยู่อีกที ก่อนก้มลงเก็บมากิ่งหนึ่ง ไม่ได้ใบ ก็ขอกิ่งจะเอากลับไปบูชา ข้าพเจ้านึกปลอบใจตนเองว่า ได้กิ่งก็ดีกว่าใบ มานะมาอย่างเงียบๆ ไม่รู้ตัวเลย สำหรับท่านใดที่อยากได้ใบพระศรีมหาโพธิ์ ควรมาช่วงเดือนมีนาคม ใบจะร่วงเยอะ ลมพัดที ตกลงมาให้เก็บได้ทั่วถึงกัน ตอนมีเยอะก็ไม่สนใจ พอมีน้อย ก็อยากได้
 
ณ สนามหญ้าข้างพระสถูปพุทธคยา (โพธิมณฑล) ยามเย็นย่ำ ช่วงที่ไปอินเดียครั้งนี้ ไม่หนาว ไม่ร้อน คณะทั้งหมดมาเจอกันและสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์และอาจารย์วิทยากร  ข้าพเจ้าจดจำมาได้ดังนี้
 
ความนึกคิดปรุงแต่งที่เกิดเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นำไปสู่การสะสมของกิเลส จริงๆ ที่สุดของความจริงของ "เห็น" เป็นธรรมะ ไม่ใช่ตัวตนของใคร สับปะรด ไม่จริง แข็งจริง รสจริง หวานจริง มีปัจจัยให้เกิดก็เกิด เกิดแล้วก็ดับไป ไม่มาอีก เหมือนมายากล ที่ยังนึกว่ามีอยู่ แต่จริงๆดับไปแล้ว... ลุ่มลึก เพราะเห็นยาก ว่าเกิดแล้วดับ เห็นยาก เพราะลุ่มลึก ว่าหนทางนี้เป็นหนทางที่ละความไม่รู้ (ธรรมะเห็นยากเพราะลุ่มลึก) ... ไม่ว่าอยากสักเท่าไร ถ้าสิ่งที่อยากให้เกิด ไม่เกิด ก็คือไม่เกิด... ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่รู้ความจริงอะไรเลย ธรรมะ คือ ปกติ เมื่อฟังบ่อยๆ ก็ระลึกได้ แม้ไม่ได้ฟังก็ระลึกได้ ... จิตเล็กน้อยไหม ไม่มีอะไรที่จะเกิดดับเร็วเท่าจิต ... เมื่อเข้าใจแล้ว ชีวิตจะเปลี่ยน จากความโกรธเป็นความเมตตา ถ้าไม่เปลี่ยนแสดงว่ายังไม่เข้าใจ (สาธุ เป็นตัวชี้วัดความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น ที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน) ... ปลงอาบัติ เพราะสำนึกที่ดี และปลงอาบัติซ้ำๆ ซากๆ ก็ยังดีกว่าไม่ปลงอาบัติ ซึ่งแสดงว่าไม่รู้ตัวว่าทำผิด ... ปัญญา ตรงมาก ดีคือดี ไม่ดีคือไม่ดี ... แก้ตัวไปทำไมคะ (ท่านอาจารย์ถาม) เพราะยังมีตัว (ท่านอาจารย์เฉลย)
 
 

 




THAIWARE Dharma | นำข้อมูลบทความออก !  นำข้อมูลออกพิมพ์ !

THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออก โดยการพิมพ์ (Print Article by Printable View)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ MS.Word (Export Article to MS.Word)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ ไฟล์เอกสาร PDF (Export Article to PDF Format Document)
 

THAIWARE Dharma | กลับสู่หน้าแรก ไทยแวร์ธรรมะ
 

 

 

 

  THAIWARE Dharma | ส่งความคิดเห็นจากทางบ้าน !
หัวข้อ เนื้อหา ข้อตกลง
  ความคิดเห็น* :

หมายเหตุ : กรอกรายละเอียดของบทความเข้าไป (ไม่รับ HTML Code) สามารถกด Enter ขึ้นบรรทัดใหม่ได้
  ห้ามโพสข้อความ !

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลต่อ ความมั่นคงของประเทศ

  ที่ส่อไปทางลามก อนาจาร หรือผิดศีลธรรม

  ที่ถือเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย

  ที่เป็นความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ผิดต่อ พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๑
  ชื่อ / อีเมล์* :

หมายเหตุ : "นาย สมชาย รักธรรม" หรือ "somchai.r@gmail.com"
  รหัสยืนยัน* :

 
ฉันยอมรับข้อตกลงที่กล่าวมา ภายในหน้านี้ ทั้งหมด