ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
 

 

รวมลิ้งค์ เว็บไซต์ธรรมะ ที่น่าสนใจ
  THAIWARE Dharma | รายละเอียด บทความ บทสวด บทคาถา ธรรมะ
เลือกขนาดตัวอักษร ขนาดตัวอักษร :  ก   ก   ก   ก 

สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ (ปีที่ 2 ตอน 7) บทส่งท้าย สรุปความเข้าใจธรรมะ ที่สะสมมาถึงปีนี้

 

    Share  
 

 

 

บทส่งท้าย
สรุปความเข้าใจธรรมะ ... ที่สะสมมาถึงปีนี้

หลังจากข้าพเจ้าได้เล่าถึงการเจริญสติปัฎฐานให้ท่านอาจารย์และคณะวิทยากรได้ฟัง และรู้ว่ายังเข้าใจไม่ถูกต้องในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ดังที่อาจารย์อรรณพและอาจารย์กุลวิไลกรุณาแนะนำไว้ในวันนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รับกุศลวิบากจากเสียง (ท่านอาจารย์) ที่น้องเต้ยเปิดเทปหรือโทรศัพท์มือถือให้ฟัง ตลอดการเดินทางไปกราบสังเวชนียสถานต่างๆ สาธุ และหลังจากกลับจากอินเดียข้าพเจ้าก็ได้ยินเพิ่มเติมอีก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ ความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ณ ขณะปัจจุบัน ซึ่งก็คือ สติปัฎฐาน เพิ่มพูนขึ้น ความจริงท่านอาจารย์และคณะวิทยากรและผู้ร่วมสนทนา ก็คุยกันในเรื่องสติปัฎฐานมานานมาก

และ ข้าพเจ้าก็ได้ยินมานานมากเช่นกัน แต่ ... เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยให้ ปัญญา คือ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการเจริญสติปัฎฐานปรากฏเกิดขึ้น ก็ไม่เกิดขึ้น แม้ว่าจะฟังจะศึกษาอยู่เป็นประจำโดยตลอด เหมือนว่าเข้าใจมากแล้ว แต่แท้จริงไม่เข้าใจเลย หากไม่ได้มีการสนทนาธรรมศึกษาธรรมเพื่อสอบทานความเข้าใจที่ถูกต้องจากพระไตรปิฏก อรรถกถา และท่านผู้เป็นพหูสูตแล้ว หากไม่มีศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมใจเชื่อในพระธรรมคำสั่งสอน โอกาสที่ความเข้าใจที่ถูกต้องจะพัฒนาขึ้น เป็นไปได้ยาก เพราะพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และแสดงธรรมนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง ลุ่มลึก และยากยิ่งที่จะรู้จะเข้าใจจนประจักษ์แจ้งได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อพ้น 2000 ปีหลังการปรินิพพานแห่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โอกาสประจักษ์แจ้งบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ไม่มีแล้ว มีเพียงพระอนาคามีเป็นอย่างมาก คือละความโกรธได้แล้ว แต่ก็ยังมีโลภะ มีมานะ มีความฟุ้งซ่านอยู่ (หลัง พ.ศ. 3000 มีเพียงพระสกทาคามีเป็นอย่างมาก หลัง พ.ศ. 4000 มีเพียงพระโสดาบันเป็นอย่างมาก หลัง พ.ศ. 5000 มีเพียงผู้ที่ถือศีลห้าเป็นอย่างมาก และพระสัทธรรมเสื่อมหายไป)

นอกจากนี้กุศลและปัญญาก็ต้องพากเพียรสะสมไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นเหตุปัจจัยให้ได้รับกุศลวิบาก ได้มีโอกาสเพิ่มพูนปัญญา ไม่ถูกอกุศลวิบากชักพาไปในทางหลงผิด หรืออวิชชาด้วย

อย่าลืมว่าอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ประเสริฐที่เราควรสะสมไว้ให้มากที่สุด เพราะมีประโยชน์ มีคุณมหาศาลคือ ศรัทธา (น้อมใจเชื่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า) ศีล (ไม่ล่วงทุจริตทางกาย วาจา ใจ) สุตะ (ฟังและศึกษาพระธรรม) จาคะ (บริจาคเพื่อละกิเลส อกุศลต่างๆ) ปัญญา (รู้และเข้าใจปรมัตถธรรมตามความเป็นจริงจนประจักษ์แจ้ง)

แต่ก่อนข้าพเจ้าฟังธรรมแล้ว ก็คิดว่าง่าย ธรรมทั้งปวงมีเพียงรูปธรรม นามธรรมเท่านั้นเอง ก็ไม่เห็นมีอะไรให้น่ายึดถือ แต่จนวันนี้ข้าพเจ้าก็ยังยึดมั่นเหนียวแน่นอยู่ทุกวัน จึงรู้ว่ายากที่จะสลัดคืนจริงๆ ก็รูปธรรม นามธรรม จิต เจตสิก ที่เสมือนมาประชุมกันเป็นขันธ์ห้า ยังวนเวียนเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเราตลอด ถ้าปัญญาจากการศึกษาธรรม (คือฟัง เรียน ไตร่ตรอง ทรงจำไว้อย่างมั่นคง) ให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ถ้าการเจริญบารมีทั้งสิบ ถ้าบุญกุศลที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งทาน ศีล ภาวนาไม่ได้สะสมไว้อยู่เสมอ โอกาสที่จะประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรมได้ ก็แทบไม่ต้องคิดถึง ดังนั้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ จึงไม่ควรประมาทในการเจริญกุศลและปัญญาเลย

การปฏิบัติธรรมโดยการนั่งสมาธิโดยวิธีใดก็ตามเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ศึกษา ฟังและสนทนาธรรมกัน โอกาสผิดพลาดเป็นมิจฉาสมาธิ คือสมาธิที่มีความเห็นไม่ถูกต้อง ย่อมเกิดขึ้น สัมมาสมาธิไม่ใช่การนึกคำใดคำหนึ่งซ้ำๆ ที่เรียกกันว่า คำบริกรรม ไม่ใช่การจินตนาการ นึกคิดเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกสงบ ไม่ใช่การเห็นนิมิตที่ปรากฏต่างๆ หรือความสามารถในการทำปาฏิหาริย์อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ แต่สมาธิ คือความตั้งใจมั่น เป็นเพียงพื้นฐานที่นำไปสู่การอบรมเจริญวิปัสสนา การเจริญปัญญา สัมมาสมาธิเป็นสมาธิขณะที่มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ และสัมมาสติ รู้ไตรลักษณ์ รู้ลักษณะรูปธรรมนามธรรม รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ละคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ติดในนิมิตต่างๆ สงบจากอกุศลทั้งปวง

ขออธิบายแนวทางการเจริญสติปัฎฐานตามความเข้าใจในเบื้องต้นของข้าพเจ้า เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจพระธรรม และไม่ประมาทในการเจริญปัญญา ได้พิจารณาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในปรมัตถธรรม ดังนี้

ก่อนอื่น ต้องศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงแสดงไว้ ให้รู้และเข้าใจ ทั้งพระอภิธรรม พระสูตร และพระวินัย จากพระไตรปิฎก จากท่านผู้ศึกษาธรรมที่มีความเข้าใจถูกต้อง ซึ่งพิจารณาได้ว่าเข้าใจถูกต้องจากคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นปรมัตถธรรม เป็นไตรลักษณ์ เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ตามเหตุปัจจัย เป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นซึ่งคนดียอมรับนับถือ เป็นไปในทางละคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เป็นไปในทางละคลายความติดข้อง ต้องการ มัวเมา เพลิดเพลิน ยินดี เป็นไปในทางละคลายความไม่พอใจ ความโกรธ พยาบาท ความขุ่นเคืองใจ และเป็นไปในความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในอริยสัจสี่

และต้องทราบว่า สภาพธรรมที่ปรากฏให้จิตรู้ ให้เจตสิกปรุงแต่งได้นั้น มีเพียง 6 ทาง เท่านั้น คือ  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และถูกเหมาเอาว่าเป็นโลกของเรา เป็นเรา เป็นเขา ของเรา ของเขา เป็นตัวตนของเรา เป็นตัวตนของเขา

จิต (วิญญาณ) รู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ทางใจ

จิตรู้สี หรือ รูป จากสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตรู้เสียงทางหู จิตรู้กลิ่นทางจมูก จิตรู้รสทางลิ้น จิตรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง หรือไหว ทางกาย และจิตรู้นามธรรมต่างๆ ทางใจ

เจตสิก เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งไปต่างๆ นานา เป็นความรู้สึก เป็นความจำ เป็นความนึกคิดต่างๆ และที่วุ่นวาย ไม่สงบอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่รู้เท่าทันเจตสิกนั่นเอง การเจริญสติปัฎฐานเป็นการรู้เท่าทันเจตสิก ว่าเจตสิกประเภทนั้น ชนิดนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีแก่นสารให้ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรไปติดข้อง ยินดีพอใจ เพลิดเพลิน แสวงหา เมื่อไม่สมหวัง ก็ไม่ต้องขุ่นเคือง โกรธ อาฆาตมาดร้าย

คนเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ยังมีความพอใจ (โลภ)  มีความไม่พอใจ (โกรธ) แต่ไม่มีปัญญา (หลง) หรือมีปัญญาน้อย เพราะยึดมั่นขันธ์ห้าว่าเป็นตัวตน ขันธ์ห้าปรากฏในภูมิมนุษย์ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เทวดา และพรหม ยกเว้นพรหมที่มีเพียงรูป (ขันธ์ 1) และพรหมที่มีเพียงนาม (ขันธ์ 4) ประกอบด้วย รูปและนาม รูปก็คือร่างกาย ซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น หัวใจและกายอื่นๆ ส่วนนามคือจิต หรือใจ หรือตัวรู้ เรียกว่า วิญญาณขันธ์ จิตจะอาศัยรูปเป็นที่เกิด นามที่เป็นเจตสิกได้แก่ความจำได้หมายรู้ เรียกว่า สัญญาขันธ์ ที่เป็นความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆทางกายหรือใจ เรียกว่า เวทนาขันธ์ ที่เป็นความนึกคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะรัก เกลียด เมตตา อิจฉา ขี้เหนียว ไม่รู้ปรมัตถธรรม ปัญญาและความนึกคิดอื่นๆ เหล่านี้ เป็นต้น เรียกว่า สังขารขันธ์   และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก ในสังสารวัฎนี้ ก็เกิดจากการทำกิจ หน้าที่ต่างๆ ของขันธ์ทั้งห้านี่เอง โดยเฉพาะเวทนา สัญญา สังขาร ซึ่งเป็นเจตสิก เจตสิกตัวสำคัญคือตัณหา และอวิชชา ที่เป็นต้นเหตุให้ก่อเรื่องก่อกรรมมามากมายจนไม่ต้องนับ เพราะยึดมั่นในขันธ์ 5 ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา และยึดมั่นในขันธ์ห้าอื่นว่าเป็นเขา เป็นของเขา เป็นตัวตนของเขา

พระคาถาที่ควรระลึกถึงบ่อยๆ บทหนึ่งคือ ภัทเทกรัตตคาถา ซึ่งเป็นพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสบ่อยๆ สลับกับพระธรรมเทศนาในคราวเสด็จโปรดพุทธมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระคาถานี้เกี่ยวข้องกับการอบรมเจริญสติปัฎฐานโดยตรง ท่านพระโลมสติยเถระ (หรือพระโลมสกังคิยะ หรือพระโลมสกังภิยะ) โอรสเจ้าศากยะพระองค์หนึ่ง ได้ฟังพระคาถานี้จากพระพุทธองค์ แล้วเจริญพระคาถานี้อยู่เสมอ จนบรรลุพระอรหันต์ ข้าพเจ้าขออนุญาตคัด พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๔) จาก www.84000.org มาดังนี้

[๕๗๑] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า


บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่า ความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

การเจริญสติปัฎฐาน เป็นการฝึกฝน สะสมการสังเกต พิจารณา ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนั้น

ขณะที่สติปัฎฐานเกิดขึ้น เป็น ขณะที่เป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เกิดขึ้น กล่าวคือมีศีลยิ่ง เพราะสุจริตทั้งทางกาย วาจา ใจ  มีสมาธิยิ่ง เพราะสงบจากอกุศลทั้งปวง มีปัญญายิ่ง เพราะรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏตามความจริงแท้ของสภาพธรรมนั้นๆ 

ในขณะนั้น ...

- รู้สภาพธรรมโดยมีปรมัตถธรรม (ระลึกรู้ตามความเป็นจริง) เป็นอารมณ์ ไม่ใช่บัญญัติธรรม (ระลึกตามการจำได้ นึกคำ) กล่าวคือ ไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมเป็นคำ หรือเป็นชื่อ ไม่นึกเป็นเรื่องราว ไม่พูดในใจ ยกตัวอย่าง ดังนี้

เมื่อมีเสียงใดเสียงหนึ่งปรากฏเกิดขึ้น และมีสติระลึกได้โดยเป็นเสียงพูดกับตนเองในใจ หรือนึกคิดในใจว่า อ๋อ เสียง อ๋อ ได้ยิน อืมม์ เสียงเกิดขึ้นแล้ว ดับไปแล้ว อืมม์ มีการเกิดดับสลับสืบต่อเนื่องกันไปของเสียง เอ้อ เสียงที่มากระทบหูเป็นรูป รูปธรรม การรู้โดยการได้ยินเป็นนาม นามธรรม ... (นึกพูดต่อไปในใจ)

ถ้าแบบนี้ เป็นสติ เป็นปัญญา แค่ คิดเรื่อง คิดเรื่องราวต่างๆ คิดพูดอยู่ในใจ ที่เป็นบัญญัติ เป็นคำ เป็นชื่อ ที่เกิดจากสัญญา ความจำได้หมายรู้ ที่เกิดจากสังขาร ความนึกคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องราวต่างๆ ก็ต้องเพียรพยายามต่อไป ศึกษาฟังธรรมต่อไป จนกว่า จะเป็นสติปัฎฐาน ที่ระลึกรู้สภาพธรรมแท้ๆ ที่ปรากฏขณะนั้น โดยความเป็นปรมัตถ์ ตามลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ ในขณะนั้น เหมือนตามดู ตามรู้ ตามศึกษา ตามพิจารณาไปแบบเงียบๆ “อย่าพูดในใจ” ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไปเรื่อยๆ ในแต่ละขณะ

เมื่อเข้าใจการระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงมากขึ้น จะรู้ได้ว่า ทุกวันนี้ ที่พูดอยู่ปาวๆ ตลอดวัน ตลอดคืนนั้น (ยกเว้นตอนที่หลับสนิท เป็นภวังคจิตคือจิตดำรงภพชาติ เท่านั้น) มีทั้งพูดแบบเปล่งเสียงออกมาให้คนอื่นได้ยิน และแบบไม่เปล่งเสียง คือพูดในใจ และที่อันตรายมากคือการพูดในใจ ยิ่งพูดในใจมากเท่าไร ยิ่งฟุ้งซ่านมากเท่านั้น เพราะน้อยครั้งที่จะพูดในใจในเรื่องปัจจุบัน ปกติก็จะเป็นอดีตเป็นอนาคต และน้อยครั้งที่พูดในใจในเรื่องที่เป็นกุศล เป็นสติ เป็นปัญญา ส่วนใหญ่ที่พูดในใจเป็นอกุศลทั้งนั้น เมื่อหยุดพูดในใจ แต่พยายามตามระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่แท้จริงที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น บ่อยๆ เนืองๆ สะสมให้มากขึ้นๆ จะรู้สึกสงบ และค่อยๆ ละคลายความยึดมั่นในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏไปเป็นลำดับ

ท่านเคยรู้สึกโกร้ธธธธ โกรธธธธ โกรธธธ โกรธจริงๆ บ้างไหม ตอนนั้นมีทั้งพูดออกมา และพูดในใจ อาจจะระงับปากได้ แต่ใจ ... ระงับไม่อยู่ คำพูดต่างๆ พรั่งพรูอยู่ในใจมากมาย แต่ถ้าหยุดพูดในใจ ตอนนั้นรู้อะไรบ้าง อาจจะรู้ว่ามีความร้อนรุ่ม ความขุ่นเคือง ความหยาบกระด้าง ความประสงค์ร้าย ความอึดอัดกระวนกระวาย อาจจะรู้ว่ามีความติดข้อง เพลิดเพลิน ความต้องการให้ความโกรธดำรงอยู่ สลับไปมาอยู่ด้วย การที่ความร้อนรุ่มเกิดขึ้น มันก็ไม่ใช่ความติดข้อง พอใจในการโกรธ เป็นคนละสภาพธรรม มีการเกิดดับของสภาพธรรมเหล่านี้สลับไปมาตลอดเวลา ถ้าไม่ปรุงแต่งต่อคือไม่ยึดถือในเรื่องราวรายละเอียด ก็ไม่มีอะไรมาเป็นอารมณ์ให้นึกพูดในใจ ก็จะค่อยๆ ซาลงๆ ตามสติหรือสภาพธรรมอื่นๆที่มีเหตุปัจจัยให้ปรากฏต่อๆ มา แล้วเปลี่ยนความสนใจไปเรื่องอื่น หรืออยู่ๆ ก็อาจมีเหตุปัจจัยให้นึกถึงเรื่องราวที่ทำให้โกรธที่ผ่านไปแล้ว ย้อนกลับมาโกรธอีกก็ได้ ถ้ามีสติเกิด ก็ระลึกรู้ความจริงที่ปรากฏเหล่านั้นต่อไปอีก

- ไม่ยึดถือในนิมิต (รูปร่าง สัณฐานอย่างหยาบ) และอนุพยัญชนะ (รายละเอียด) ขณะระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ ก็ตามรู้ ไม่ต้องไปยึดติด ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องใส่ใจ ไม่ยึดถือในรูปร่าง สัณฐาน และรายละเอียดที่ปรากฏ แม้สัญญา คือ ความจำได้ ความรู้ชื่อ อาจจะปรากฏให้รู้ได้ ก็เพียงรู้ลักษณะความจำได้ที่ปรากฏ แล้วผ่านไป ไม่สนใจปรุงแต่งต่อ  แต่ถ้าสังขาร คือ ความนึกคิดปรุงแต่งในรูปร่างในรายละเอียดต่างๆ แว๊บเข้ามา ก็เพียงรู้ลักษณะความนึกคิดที่เกิดขึ้น แล้วไม่สนใจที่จะคิดนึกต่อ แม้แต่เวทนา คือ ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ ทางกายหรือใจ ที่อาจเกิดขึ้น ก็เพียงรู้ลักษณะความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วไม่ใส่ใจ ไม่เพลินไปตามความรู้สึกนั้น ไม่นึกคิดปรุงแต่งต่อ ระลึกรู้เพียงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแต่ละขณะ ตามความเป็นจริงขณะนั้น แล้วไม่ยึดไม่ถือต่อ ปล่อยไป ตามสำนวนที่ว่า “เห็น ก็สักว่าเห็น” “ได้ยิน ก็สักว่าได้ยิน” หรือ “การปล่อยวาง” เป็นต้น  แต่ถ้าเห็น ก็มองแบบเบลอๆ ได้ยิน ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เจอเหตุการณ์ต่างๆ ก็ทำเป็นไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ก็เหมือนทั้งยึดทั้งถือ แต่ไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนั้น ไม่มีสติ ถ้าแบบนี้ผิด ไม่ใช่สติปัฎฐาน ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเห็น แล้วรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น แต่ไม่ปรุงแต่งต่อเป็นเรื่องราวต่างๆ จึงถูกต้อง ปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏตามจริง ถ้าไม่รับรู้อะไร ปัญญาไม่เกิด

- สติปัฎฐานอาจเกิดดับสลับกับสภาพธรรมที่เป็นอกุศล หรือกุศลอื่นๆได้ ไม่ต่อเนื่อง ก็ไม่ต้องไปบังคับกะเกณฑ์ เอาจริงเอาจัง ไม่พัก คือ ถ้าสติเกิดอีก ก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏต่อไป ไม่เพียร คือ ถ้าสติไม่เกิดอีก ก็ไม่ต้อง กระวนกระวายใจ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องไปเพ่งหาทางทำให้สติปัฎฐานเกิด เพราะสภาพธรรมต่างๆ ปรากฏเป็นอนัตตา

- บางท่านสนใจแต่จะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฎฐาน ส่วนเวทนา จิต ธรรม ไม่สนใจ จะทำเฉพาะปัฎฐานที่สนใจเท่านั้น อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุเป็นผล ทุกสิ่งเป็นอนัตตา สิ่งใดปรากฏขณะนั้น ถ้าสติเกิด ก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนั้น จึงจะถูกต้อง และเมื่อระลึกรู้ในปัฎฐานใด ก็ไม่ต้องสนใจไปรู้ชื่อ รู้บัญญัติของปัฎฐานนั้น

- ถ้าสิ่งที่ปรากฏ เกิดเพียงช่วงสั้นๆ ก็ระลึกได้เพียงการเกิดขึ้นแล้วดับไปของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าสิ่งที่ปรากฏ เกิดดับสืบต่อเนื่องกันยาวนาน ก็ระลึกในความเป็นรูปธรรม และนามธรรม ของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ แต่ก็เป็นการกล่าวตามแนวทาง ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเช่นนี้ทุกครั้ง เพราะการระลึกนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย และความเป็นอนัตตา การไปบังคับให้นึก ก็ไม่ถูกต้อง แต่ต้องเกิดตามการระลึกรู้ ณ ขณะปัจจุบันนั้น

- ขณะสติปัฏฐานเกิดขึ้น จะมีลักษณะของความสงบเกิดขึ้น เพราะขณะนั้นสงบจากอกุศล ถ้าขณะนั้นมีความอึดอัด กระวนกระวายใจ วุ่นวายใจ เครียด ขณะนั้นไม่ใช่สติ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

- สติ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ การสร้างเหตุที่ดี ก็จะได้รับผลที่ดี การสร้างเหตุของสติปัฎฐาน คือ การคบสัปบุรุษ (สัปบุรุษที่ยิ่งกว่าสัปบุรุษ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งปัจจุบันคือ พระไตรปิฎก) ผู้เป็นกัลยาณมิตร แล้วศึกษาฟังพระสัทธรรม จนเกิดความเลื่อมใส น้อมใจเชื่อ (ศรัทธา) แล้วใคร่ครวญพิจารณาธรรมโดยแยบคาย ตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง (โยนิโสมนสิการ) อยู่เนืองๆ สม่ำเสมอ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้สติเกิดง่ายขึ้น และเจริญสติปัฎฐานได้มากขึ้น

- การเจริญสติปัฎฐาน บ่อยๆ เนืองๆ จะเป็นพลวปัจจัย คือปัจจัยที่มีกำลัง ให้ค่อยๆ ละคลายความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นเรา (ในตัวตน ในขันธ์ห้า) เป็นของเรา (ในสิ่งต่างๆ ที่มากระทบสัมผัส ที่ทำให้ติดข้อง พอใจ หรือไม่พอใจ)  เป็นตัวตนของเรา (ในความคิดเห็นต่างๆ ที่ปรุงแต่งไปตามกิเลส ไม่เป็นจริงตามอริยสัจสี่) และพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

สำหรับการเจริญสติปัฎฐานที่ละเอียด ลึกซึ้ง ลุ่มลึกกว่านี้ ท่านที่สนใจจะต้องศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจ ให้ประจักษ์แจ้งต่อไปด้วยตนเอง เพราะเป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน  ส่วนข้าพเจ้าเต่าตาฟางตัวน้อยปัญญาเท่านี้ก็จะไม่พัก ไม่เพียรต่อไปเช่นกัน จนกว่าจะสามารถลอดห่วงที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร และเข้าสู่ประตูพระนิพพาน ในอนาคตกาลเบื้องหน้านู้นนนนน ..




THAIWARE Dharma | นำข้อมูลบทความออก !  นำข้อมูลออกพิมพ์ !

THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออก โดยการพิมพ์ (Print Article by Printable View)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ MS.Word (Export Article to MS.Word)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ ไฟล์เอกสาร PDF (Export Article to PDF Format Document)
 

THAIWARE Dharma | กลับสู่หน้าแรก ไทยแวร์ธรรมะ
 

 

 

 

  THAIWARE Dharma | ส่งความคิดเห็นจากทางบ้าน !
หัวข้อ เนื้อหา ข้อตกลง
  ความคิดเห็น* :

หมายเหตุ : กรอกรายละเอียดของบทความเข้าไป (ไม่รับ HTML Code) สามารถกด Enter ขึ้นบรรทัดใหม่ได้
  ห้ามโพสข้อความ !

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลต่อ ความมั่นคงของประเทศ

  ที่ส่อไปทางลามก อนาจาร หรือผิดศีลธรรม

  ที่ถือเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย

  ที่เป็นความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ผิดต่อ พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๑
  ชื่อ / อีเมล์* :

หมายเหตุ : "นาย สมชาย รักธรรม" หรือ "somchai.r@gmail.com"
  รหัสยืนยัน* :

 
ฉันยอมรับข้อตกลงที่กล่าวมา ภายในหน้านี้ ทั้งหมด