ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
 

 

รวมลิ้งค์ เว็บไซต์ธรรมะ ที่น่าสนใจ
  THAIWARE Dharma | รายละเอียด บทความ บทสวด บทคาถา ธรรมะ
เลือกขนาดตัวอักษร ขนาดตัวอักษร :  ก   ก   ก   ก 

การวิปัสสนา : การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ และ การกำหนดต้นจิต

 

    Share  
 

 

ในอิริยาบถอื่น ๆ ก็ให้มีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่ตลอดเวลา เช่น เวลารับประทานอาหารก็ควรรับประทานอย่างช้า ๆ กำหนดไปทุกระยะ เช่น ตักหนอ (ช้อนตักอาหาร) ยกหนอ (มือส่งอาหารเข้าปาก) เคี้ยวหนอ (ขณะเคี้ยว) รสหนอ (เมื่อรสปรากฏ) ฯลฯ หรือเวลาขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ อาบน้ำชำระร่างกาย เหลียวซ้าย แลขวา คู้เข้า เหยียดออก ก้ม เงย ก็ให้มีสติเสมอ มิให้ขาดระยะเช่นกัน เวลาพูดให้ระวังก่อนจะพูดให้กำหนดรู้ว่าจะพูด อย่าพูดติดต่อกันนาน พูดสัก 5-6 คำ หรือ 7-8 คำ ให้หยุดตั้งสติ แล้วพูดต่อไป ให้พูดช้า ๆ เป็นการดี

การกำหนดต้นจิต

ต้นจิต คือ ความอยากนั่นเอง เช่น อยากลุก อยากนั่ง อยากนอน เป็นการฝึกจิตให้อยู่กับอาการเคลื่อนไหวและอิริยาบถต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อฝึกหัดให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะมากขึ้น (ธนิต อยู่โพธิ 2518 : 57)

เช่น ขณะนั่งอยู่ ก็กำหนดรู้ตัวว่านั่งอยู่ และถ้าจะลุกขึ้น ก่อนจะลุกขึ้นยืนให้กำหนดว่า อยากลุกหนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) ขณะลุกก็ควรเคลื่อนไหวช้า ๆ และกำหนดไปตามอาการและอิริยาบถ โดยกำหนดไปพร้อมกันว่า ลุกหนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง)

ขณะยืนกำหนดว่า ยืนหนอ ๆ ๆ จะงอแขนเข้ามาให้กำหนดว่า อยากคู้หนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) เมื่องอแขนแล้วกำหนดว่า คู้หนอ ๆ ๆ (3 ครั้ง) เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติใหม่ส่วนมากมักจะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนอิริยาบถไปโดยมิได้กำหนดรู้ไว้ก่อน แต่นึกได้ภายหลังบ้าง บางครั้งกำหนดสับสนไปบ้าง ทั้งนี้หากไม่ท้อถอยและพากเพียรในการฝึกหัดต้นจิตนี้อย่างสม่ำเสมอ สติจะค่อย ๆ มั่นคงขึ้นเป็นพื้นฐานแก่การกำหนดขั้นสูงต่อไป

จากการสอบถามถึงวิธีการสอนกรรมฐาน ดร.พระมหาพิธูร วิธุโร อธิบายว่า

“ในการสอนกรรมฐาน นำมาจากมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 หมวด เช่น หมวดกาย ให้พิจารณาความเคลื่อนไหวร่างกาย เดิน ยืน นั่ง นอน รวมทั้งความเจ็บปวด (เวทนา) ความคิด (จิต) ความง่วง (ธรรม) ซึ่งก็คือ สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง แต่ไม่ได้เรียกอย่างนั่น ถ้าถามว่าปฏิบัติแบบใด ก็ต้องบอกว่าแบบพองหนอ-ยุบหนอ หนอเป็นคำที่เสริมเข้ามา เพื่อเพิ่มสมาธิให้มากขึ้น คำพูดนั้นไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ ให้มีสติกำหนดรู้ ส่วนจำนวนครั้งที่ให้กำหนด 3 ครั้งนั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่จำเป็น แต่โดยทั่วไปแล้วเราชอบพูดอะไรให้เป็น 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มความหนักแน่น เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น”

ดังได้กล่าวแล้วว่า อินทรีย์ 5 และพละ 5 เป็นธรรมที่มีอุปการะมากในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน การปรับอินทรีย์และพละให้เสมอกันเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปฏิบัติจะได้รับคำสอนและการอบรมจากท่านวิปัสสนาจารย์เป็นระยะ ๆ ในที่นี้มีการสอนเกี่ยวกับอิริยาบถ 2 อย่าง คือ เดินจงกรม และการนั่งสมาธิ

การเดินจงกรม เป็นการทำความเพียรอย่างหนึ่ง แม้จะมีสมาธิอยู่บ้าง แต่ก็หนักไปทางวิริยะ ส่วนการนั่งกำหนดกรรมฐาน เป็นการบำเพ็ญสมาธิอย่างหนึ่ง แม้จะมีความเพียรประกอบ แต่ก็หนักไปทางสมาธิ อินทรีย์ทั้งสอง (วิริยะกับสมาธิ) ต้องปฏิบัติให้เสมอกัน ถ้าเดินจงกรมตลอดเวลาเท่าใด เช่น 15 นาที 30 นาที 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ควรนั่งกำหนดภาวนาตลอดเวลาเท่ากันกับการเดินจงกรม เมื่อมีวิริยะในการเดินจงกรมและมีสมาธิในการนั่งกำหนด ปัญญาที่เรียกว่า “ญาน” ก็จะเกิดขึ้นด้วยการรู้เห็นตามเป็นจริง มีพระพุทธพจน์กล่าวว่า

“นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส, นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน”

การกำหนดสภาวะไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่กำหนด

เมื่อผู้ปฏิบัติพากเพียรกำหนด พองหนอ - ยุบหนอ - นั่งหนอ - ถูกหนอ หรือซ้ายย่างหนอ - ขวาย่างหนอ ด้วยใจสงบ มีขณิกสมาธิติดต่อกันอยู่ได้นาน ผู้ปฏิบัติจะจำแนกได้ว่า “พอง-ยุบ-นั่ง-ถูก” นั้น เป็นรูป คือ วาโยโผฏฐัพพรูป และการกำหนดรู้ เป็นนาม คือ รู้อาการ พอง-ยุบ นั่ง-ถูก

เมื่อรวม ความรู้อาการ พอง-ยุบ-นั่ง-ถูก ซึ่งเป็นรูป กับ การกำหนด อาการซึ่งเป็นนาม เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ทั้งนี้คงเห็นแต่ฐิติขณะ คือ การตั้งอยู่ของนามและรูปเท่านั้น ไม่เห็นอุปปาททขณะ (ขณะเกิดขึ้น) และภังคขณะ (ขณะดับลง) เป็นญาณขั้นต้น ซึ่งเป็นความรู้โดยการเห็นประจักษ์ด้วยประสบการณ์จากการปฏิบัติของตนเอง หากปฏิบัติต่อไปจนญาณนี้แก่กล้าขึ้น จะรู้ว่าในขณะหายใจเข้ามีแต่อาการพองของท้องเท่านั้น ในเวลาหายใจออกก็จะมีแต่อาการยุบของท้องเท่านั้น

อาการพอง กับ ใจที่รู้สึก เกิดพร้อมกัน แต่เป็นคนละส่วนกัน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อัตตา เป็นผู้สั่งหรือบงการให้เป็นอย่างนั้น คงมีแต่รูปซึ่งเป็นอารมณ์ และนามซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์เท่านั้น การรู้อย่างนี้เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ จัดอยู่ใน ทิฏฐิวิสุทธิ์

ในคัมภีร์วิสุทธิมัรรค กล่าวไว้ว่า “ความเห็นนามและรูปตามที่เป็นจริง อันครอบงำเสียซึ่งสัตตสัญญา (คือสำคัญว่ามีสัตว์มีบุคคล) ได้แล้ว ตั้งอยู่ในอสัมโมหภูมิ (คือภูมิของความไม่หลงงมงาย) ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ และยังมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น นามรูปววัฏฐาน คือ การกำหนดนามรูปก็ได้ เรียกว่า สังขารปริจเฉท คือ การกำหนดสังขารก็ได้”

ถ้าผู้ปฏิบัติมีความพากเพียรต่อไป ด้วยการกำหนดนามและรูปโดยอาการ 2 ขณะ คือ ขณะเกิดขึ้น (อุปาทขณะ) เมื่ออาการพองขึ้นของท้องก็รู้ และขณะตั้งอยู่ (ฐิติขณะ) แห่งอาการพองขึ้นของท้องก็รู้ (แต่ไม่รู้ถึงภังคขณะ คือ อาการที่ท้องยุบลง) การรู้อย่างนี้เรียกว่าปัจจยปริคหญาณ คือ รู้เหตุและปัจจัยของนามและรูป เช่น อาการพองเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ว่าพองเกิดขึ้น อาการพองเป็นรูป การกำหนดรู้เป็นนาม อาการพองเป็นเหตุ รู้อาการพองเป็นผล เมื่อจะคู้แขนหรือเหยียดออก การกำหนดใจ จะคู้หรือเหยียดเป็นนามและเป็นเหตุ อาการคู้หรือเหยียด เป็นรูปและเป็นผล

การกำหนดรู้เหตุพร้อมทั้งผล หรือรู้ผลพร้อมทั้งเหตุนี้เรียกว่า สปัจจยปริคหญาณ (ธนิต อยู่โพธิ 2518 : 68-69)

ทั้งนามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคหญาณนี้ ยังไม่นับเป็นวิปัสสนาญาณ แต่จะเป็นบาทเบื้องต้นที่จะให้เกิดสัมมสนญาณ อันเป็นเขตของวิปัสสนาญาณโดยแท้จริงต่อไป ผู้ปฏิบัติที่สามารถรู้ว่ารูปนามทั้งสองนั้นเป็นเหตุเป็นผล เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน คือ บางครั้งรูปเป็นเหตุ นามเป็นผล บางครั้งนามเป็นเหตุ รูปเป็นผล หาใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลไม่ เช่นนี้ย่อมข้ามพ้นความสงสัยในนามรูปได้ เรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ แม้จะยังไม่เห็นไตรลักษณ์ในนามรูป แต่ความเห็นผิดว่ามีตัวตนจะเบาบางลงมาก ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ กล่าวถึงอานิสงส์ของญาณนี้ไว้ว่า

“อิมานา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส

ลทฺธปติฏโฐ นิจตคติโก จูลโสตาปนฺโน นามโหติ ฯ”

“อันผู้เจริญวิปัสสนาประกอบแล้วด้วยญาณดังกล่าวนี้ เป็นผู้ได้ความเบาใจแล้ว ได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนาแล้ว ชื่อว่า จุลโสดาบัน เป็นผู้มีคติ คือ ภูมิที่ไปเที่ยงแท้แน่นอน”

พระธรรมปาละเถระ ผู้แต่งคัมภีร์ปรมัตถมัญชุสามหาฎีกา อธิบายข้อความเพิ่มเติมว่า

“ผู้ปฏิบัติที่บรรลุถึง (กังขาวิตรณวิสุทธิ) ญาณนี้แล้ว มีคติที่เที่ยงแท้ในชาติหน้าซึ่งต่อจากชาตินี้จะไปสู่สุคติ สามารถปิดอบายภพเสียได้ แต่ในชาติที่ 3 ต่อไปนั้นไม่แน่นอน จะปิดอบายภพได้อย่างแน่นอน คือ ชาติที่ 2 เท่านั้น ถ้าต้องการปิดแน่นอนต้องบำเพ็ญความเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป จนกระทั่งบรรลุอริยมรรค อริยผล ดังนี้”

จากงานวิจัยส่วนภาคสนามเรื่องวิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไทย วริยา ชินวรรโณ และคณะ (2537 : 247) มีความเห็นและตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การปฏิบัติสมาธิของสายวัดมหาธาตุ ฯ นี้ เป็นสายการปฏิบัติธรรมที่ผู้มาฝึกจะได้ความรู้ทางอภิธรรมปิฎกด้วย เพราะการอธิบายการปฏิบัติ ตลอดจนปรากฏการณ์จากการปฏิบัติ ส่วนใหญ่อธิบายในภาษาของอภิธรรม ซึ่งทำให้มีหลักเกณฑ์น่าเชื่อถือ แต่ก็ยากแก่การเข้าใจของผู้ที่ไม่ได้มีความรู้ในอภิธรรมมาก่อน ยกเว้นว่าพระอาจารย์ที่ทำการสอนจะมีลำดับขั้นตอน การอธิบายในเบื้องต้นไม่ให้เป็นภาษาอภิธรรมจนเกินไปแล้ว จะเป็นที่สนใจชวนให้ฝึกเป็นอย่างมาก

เท่าที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นการเน้นการปฏิบัติวิปัสสนาในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเห็นว่าถ้าเบื้องต้นทำได้ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถศึกษาและปฏิบัติในขั้นสูงขึ้นไปได้ไม่ยากนัก




THAIWARE Dharma | นำข้อมูลบทความออก !  นำข้อมูลออกพิมพ์ !

THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออก โดยการพิมพ์ (Print Article by Printable View)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ MS.Word (Export Article to MS.Word)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ ไฟล์เอกสาร PDF (Export Article to PDF Format Document)
 

THAIWARE Dharma | กลับสู่หน้าแรก ไทยแวร์ธรรมะ
 

 

 

 

  THAIWARE Dharma | ส่งความคิดเห็นจากทางบ้าน !
หัวข้อ เนื้อหา ข้อตกลง
  ความคิดเห็น* :

หมายเหตุ : กรอกรายละเอียดของบทความเข้าไป (ไม่รับ HTML Code) สามารถกด Enter ขึ้นบรรทัดใหม่ได้
  ห้ามโพสข้อความ !

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลต่อ ความมั่นคงของประเทศ

  ที่ส่อไปทางลามก อนาจาร หรือผิดศีลธรรม

  ที่ถือเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย

  ที่เป็นความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ผิดต่อ พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๑
  ชื่อ / อีเมล์* :

หมายเหตุ : "นาย สมชาย รักธรรม" หรือ "somchai.r@gmail.com"
  รหัสยืนยัน* :

 
ฉันยอมรับข้อตกลงที่กล่าวมา ภายในหน้านี้ ทั้งหมด