ไทยแวร์ธรรมะ ออนไลน์

Thaiware Dharma Mobile Site
http://dharma.thaiware.com/mobile



(กดตรงนี้เพื่อดูรูปภาพขนาดเต็ม)


อังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2556 (พาราณสี – กรุงเทพฯ)

ผลของความติดข้อง

รับประทานอาหารเช้าเสร็จ ก็แวะไปร้านนกแก้ว แล้วตัดสินใจซื้อนกแก้วเกาะคอน กระต่ายน้อยสีเขียว และพระพิฆเณศ (องค์นี้ถือที่คั้นน้ำส้ม เข้าใจว่าคือ ถ้วยใส่ขนมโมทก - Modak) ด้วยราคาสามชิ้นพันสาม แล้วจะห่อยังไง สีจะร่วงอีกไหมก็ไม่สนใจ จะซื้อแล้ว เออหนอ เพราะมีเหตุปัจจัยให้ต้องซื้อสามชิ้นนี้ เมื่อยังคิดซื้อชิ้นเดียวอยู่ ก็เทียวไล้เทียวขื่ออยู่นั่นแล้ว เรื่องนี้ทำให้นึกถึงสำนวนไทยที่ว่า รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ (รักสงบ ให้ยุติเรื่อง รักวุ่นวาย ให้ต่อเรื่อง) และ เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย (เสีย 600 ไม่ยอมจ่าย เสีย 1300 จ่ายง่ายๆ ซะงั้นแหละ) ได้สามชิ้นแล้ว เป็นอันจบเรื่อง เอาห่อของใส่กระเป๋า (สมหวังแล้ว???) รีบมาฟังสนทนาธรรม

ท่านอาจารย์ อจ.นิภัทร อจ.อรรณพ อจ.ธิดารัตน์ อจ.ธีรพันธ์ อจ.กุลวิไล พอจดมาได้ดังนี้

ก่อนจะเชื่อ ต้องพิจารณาว่าคำพูดนั้น ถูกต้อง มีเหตุผลหรือไม่ ... ความจริง ตั้งแต่เกิดจนตาย เราไม่เข้าใจคำที่พูดจริงๆ เช่น คำว่า “ปฏิบัติ” เข้าใจคำว่าปฏิบัติอย่างไร คำนี้ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นภาษาที่พระพุทธองค์ใช้กับผู้ที่เข้าใจภาษานี้   “อนัตตา” หมายถึง ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ใครจะบังคับบัญชาได้ ยุคนี้มีการอ่าน จะมีการจำ จะรู้จักคำ ตัวหนังสืออย่างนั้น คือ คำว่าอย่างนี้

ธรรมะทั้งปวง อาศัยกันและกันเกิด เกิดแล้วก็เป็นอย่างนั้นชั่วคราว แล้วดับไป ไม่เกิดอีก ไม่กลับมาอีก

เราไม่พูดเรื่องไร้สาระ เพราะเวลาเรามีจำกัด เวลาทุกนาทีมีค่า เราจึงควรมีความเห็นถูก พูดถูก พูดมีสาระ

ก่อนฟังธรรมะ แข็งก็ปรากฏ แต่ไม่มีความเข้าใจ แต่กลับไปจำธรรมะที่ปรากฏว่าเป็นเรา หรือบางครั้งก็ผ่านไป ไม่มีความเข้าใจ เมื่อฟังธรรมก็รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ปรากฏตามธรรมดา ตามเหตุปัจจัย เป็นลักษณะแข็ง ก็แข็ง แต่มีความเข้าใจว่า เป็นสิ่งหนึ่ง แต่ลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนั้น จึงเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นสติปัฎฐาน มีความเข้าใจว่าธรรมะนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็อยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ อยากทั้งนั้น

ฟังธรรมะให้เข้าใจ เพื่อขจัดความสกปรก มีมลทิน เป็นโรค อ่อนแอ ในจิตออกไป จนค่อยๆ เห็นถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องไปกำหนดกฎเกณฑ์ ก็จะค่อยๆ ขัดเกลา ละคลายกิเลสไปในที่สุด

นายช่างผู้สร้างเรือน คือ โลภะ เรือน คือ ร่างกาย คือ จิต เจตสิก ถ้าไม่อยากมีบ้าน จะมีบ้านไหม มีสิ่งที่พอใจไหม เข้าใจขึ้นว่า ไม่ใช่เรา

เห็นต้องดับ จึงมีได้ยิน ได้ยินต้องดับ จึงมีคิด เป็นต้น

ถาม – เมื่อคืนวาน เล่าเรื่องผี เลยมีหลายท่านกลัวผี ต้องไปนอนรวมกัน ขอให้ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องนี้

ท่าน อจ. – กลัวมีจริง เมื่อเข้าใจลักษณะสภาพธรรม อย่างลึกซึ้ง จริงๆ กลัวกลิ่น กลัวเสียง หรือคะ ไม่กลัวกิเลส แต่กลัวผี เพราะไม่รู้ความจริง เราคิดถึงสิ่งที่ปรากฏ ไม่คิดก็ไม่กลัว ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ต้องกลัว เช่น บางคนกลัวคน มากกว่าผี แต่ว่าตราบใดที่ยังมีความไม่พอใจ ขณะนั้นก็ยังมีความกลัว ความกลัวเป็นความไม่พอใจ ที่ไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ไม่ยักกลัวความเห็นผิด ที่มาบ่อยกว่าผี เช่น สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน (และเป็นเหตุให้กลัวผี เพราะมีความไม่พอใจสิ่งต่างๆ)

"ดิ้นรนกันแทบตายทุกวัน แต่สุดท้ายก็แค่นี้" ฟัง แล้วไตร่ตรอง แล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อเห็นเป็นดอกไม้ ก็รู้ว่าขณะนี้ปัญญารู้เท่านี้ ก็เท่านี้ ค่อยๆ ศึกษา จนกว่าปัญญาหลายๆ ขั้น จะเกิดขึ้น ทีละเล็กละน้อย จนกระทั่ง เห็นในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ตัวเรามี เพราะคิด

คุณวิชาญ (ไกด์อินเดีย) เล่าว่า เมืองพาราณสี มีแม่น้ำวารณะ และ วสี จึงเป็นชื่อแม่น้ำ วารณสี อาจารย์นิภัทร กล่าวเสริมว่า วารณะ มาจาก วานร วสี หมายถึง ศีรษะ จึงแปลว่า หัวลิง แต่แม่น้ำที่สำคัญ คือ กิเลสซึ่งข้ามได้ยาก

จากการฟัง ความรู้ค่อยๆ เพิ่ม และมีทั้งสภาพธรรมนั้นปรากฏ และก็มีทั้งขณะสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ

กำหนด คืออะไร เมื่อไรใช้คำนี้ ไม่ใช่อนัตตา เป็นเรา ไม่ใช่สภาพที่กำหนด จดจ้อง หรือทำ

เพราะสภาพธรรมต่างๆ ปรากฏ แล้วดับไป ไม่ปรากฏอีก จึงเป็นขันธ์ ความว่างเปล่า

ฟังเพื่อสะสมความเห็นที่ถูกต้อง และไม่ต้องหวังว่าจะรู้เมื่อไร แต่ประโยชน์ที่เห็นเดี๋ยวนี้ ก็คือการสะสมไปเรื่อยๆ ตามความสามารถในการสะสมของแต่ละคน จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในที่สุด

จนกว่าจะสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏมากพอ จึงจะละคลายกิเลสได้

อย่าลืมเพื่อนเก่าที่คุ้นเคยมาก อยู่ด้วยกันกับเราตลอดเวลา คือ ความอยาก

อย่าลืมปฐมวาจา เราได้พบ นายช่างผู้สร้างเรือน ฯ ถ้าไม่ศึกษาธรรม ด้วยความไตร่ตรอง ด้วยความตรง ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพียงเล็กน้อย แล้วก็อาจหายไป ก็พยายามสะสมให้มากๆ ขึ้น ให้มีกำลังจนชนะโลภะ นายช่างผู้สร้างเรือน โลภะมีกำลังมาก ถ้าไม่มีความเห็นถูก ก็ไม่สามารถละคลายความติดข้องว่า เป็นตัวตน ถ้าไม่มีความเข้าใจมากพอ ไม่ต้องนึกถึงว่าจะ ปฏิบัติ เพราะ ปฏิบัติ คือ ปฏิปัตติ แปลว่า ถึงเฉพาะ ยังไม่เกิดขึ้น

คำสุดท้ายนะคะ "มาแล้วก็ไป" ได้มาพาราณสี แล้วก็ไป เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ได้มาบูชาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้มา หมดเหตุปัจจัยนั้นแล้ว ก็ต้องไป ... สาธุ

หลังอาหารเที่ยง คณะเราเตรียมตัวเดินทาง คณะใหญ่จะไปถ้ำอจันตาและเอลโลร่า ส่วนคณะย่อยอีกสองคณะจะกลับกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าและน้องใหญ่ไปเอาทับทิมที่น้องเหน่งช่วยกรุณาเป็นธุระติดต่อสั่งซื้อให้ ตอนจ่ายเงินห้ากิโลราคา 800 รูปีส์ เทียบเป็นเงินไทยตามสูตรคือ 480 บาท แต่ข้าพเจ้าคิดเลขในใจไม่ค่อยถูก เลยจะจ่าย 450 บาท คุณกฤษณะ ไกด์อินเดีย หน้านิ่ว บอก 500 บาท ไม่รับแบงค์ย่อยที่ต่ำกว่า 100 บาท ข้าพเจ้าคิดสะระตะแล้วก็จ่ายโดยดี แขกยิ้มได้ การซื้อผลไม้อินเดีย ควรซื้อในวันเดินทางกลับเพราะเสียหรือเน่าง่ายมาก

ระหว่างรอรถไปสนามบิน ทราบว่ามีการสนทนาธรรมเป็นภาษาอังกฤษที่ล๊อบบี้ของโรงแรม ข้าพเจ้านั้นไม่ค่อยกระดิกหูนัก แต่ก็อยากรู้อยากฟังตามประสาคนชอบหาเรื่องรู้ไปทุกเรื่องเท่าที่จะมีโอกาส เป็นอุปนิสัยที่สะสมมานาน จึงเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย คือ เป็นการกระทำ (กรรม) หรือสภาพธรรมทั้งทางดี ทางร้ายหรือทางกลางๆ ที่มีกำลังเพราะได้สะสมมานานในอดีตอันเป็นปัจจัยให้กระทำสิ่งดี สิ่งร้ายหรือไม่ดีไม่ร้ายในขณะนั้นๆ การไปร่วมฟังสนทนาธรรมก็ถือว่าหาเรื่องดีที่ควรสะสม เลยไปนั่งฟังด้วย ท่านอาจารย์สนทนาธรรมกับพระสีวลี คุณอเลกซ์ น้องอิ้ง ส่วนท่านอื่นๆ ก็ร่วมฟังอยู่ใกล้ๆ ข้าพเจ้าหูไม่ค่อยดี นั่งห่างก็ฟังไม่ชัด จึงลงไปนั่งที่พื้นใกล้ๆ ท่านอาจารย์ จับความมาได้เล็กน้อยผิดถูกอย่างไร ขออภัยด้วย เพราะทุกท่านเสียงค่อย ส่วนภาษาอังกฤษนั้นข้าพเจ้าก็มีสัญญา (ความจำ) เล็กน้อย ดังนี้

พระสีวลีท่านปรารภว่า เดี๋ยวนี้การนับถือพุทธศาสนาของชาวศรีลังกาเปลี่ยนไปมากในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ พิธีกรรมและอื่นๆ (ข้าพเจ้าก็อยากจะกราบเรียนว่าคนไทยก็เป็นเจ้าค่ะ) พอดีท่านอาจารย์กล่าวว่า สีลัพพตปรามาส (คือการยึดถือข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดจากอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อการละคลายความเห็นผิด ความยึดมั่นว่าเป็นตัวตน และกิเลส) ท่านพระสีวลีกล่าวต่อว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ท่านอาจารย์กล่าวว่า ให้รู้ว่าแต่ละขณะ (moment) ต่างกัน คุณอเลกซ์ ทบทวนความเข้าใจว่า มีเห็น มีได้ยิน แล้วก็มีคิด ท่านอาจารย์กล่าวย้ำว่า ธรรมะที่ปรากฏ เป็นธรรมะที่ควรสนใจ ให้เข้าใจ ให้รู้ความจริง ในแต่ละขณะ จากนั้นคุณอเลกซ์พูดถึง เรื่องวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา ท่านอาจารย์กล่าวว่า

1. พุทธ คือ Enlightenment (การตรัสรู้)

2. ศาสนา คือ Study (การศึกษา)

3. Understand (ความเข้าใจธรรมะ) ... สาธุ

น่าเสียดาย ข้าพเจ้ากำลังตะแคงหูฟังอยู่ ปรากฏว่ามีเสียงเรียกว่าให้ขึ้นรถได้แล้ว เพื่อไปสนามบิน จึงจำใจต้องกราบนมัสการลาท่านพระสีวลี กราบลาท่านอาจารย์และลาทุกท่านที่นั่งฟังอยู่ รีบไปขึ้นรถ

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องปกตูปนิสสยปัจจัย (ปกติ + อุปนิสสย + ปัจจัย) ข้าพเจ้าขออนุญาตนำบทสนทนาตอนหนึ่งในปี 2525 ที่คุณย่าสงวน ซึ่งปีนี้ท่านอายุ 96 ปีและมากับคณะในครั้งนี้ด้วย ได้บันทึกไว้ให้ได้ศึกษาและอ่านกันจากเว็บไซด์บ้านธัมมะ มาด้วยความขอบพระคุณทุกท่านและด้วยเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นความจริงตามปกติในชีวิตประจำวันที่ควรรู้จัก ควรเข้าใจจริงๆ ว่าทำไมคนเรามีอุปนิสัยต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง ด้วยเหตุปัจจัยอย่างไร ดังนี้

ท่านผู้ฟัง – ปกตูปนิสสยปัจจัยนี้ คือ อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า...ผมเคยเห็นบางท่าน มีสัทธาที่สนใจในทางศาสนาแต่ว่าชวนมา หรือให้มาสนใจในกิจกรรมทางปัญญาตรงๆ อย่างที่อาจารย์สอน...โดยมาก จะไม่ค่อยยอมรับ แต่ชอบอย่างอื่น...เช่น ไปสร้างโบสถ์ สร้างพระหรืออะไร ที่เป็นกิจกรรมเช่น การนั่งสมาธิ...

ท่านอาจารย์ – แน่นอนค่ะ ! ... เพราะว่า การศึกษาปรมัตถธรรมคือ จิต เจตสิก รูป จะเห็นได้ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย แต่ว่ากรรมอื่นๆ เจตนาอื่นๆ ทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ซึ่งสะสมมาก็ยังเป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ที่ทำให้ แต่ละบุคคลในโลกมนุษย์ มีอัธยาศัยที่แตกต่างกันไป บางท่านเป็นผู้สนใจเพียงในการให้ทาน บางท่านก็สนใจในการรักษาศีล บางท่านก็สนใจในการอบรมเจริญความสงบ บางท่านก็สนใจในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ตามกำลัง ... ซึ่งเป็นปกติของกรรมที่ได้กระทำมาแล้วด้วยดีของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการกล่าวโทษบุคคลอื่นเพราะว่า... " รู้ " ... ว่าไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตนเลย ไม่ว่าใครจะมี กาย วาจา ใจ ที่ผิด ที่เป็นอกุศล หรือว่า การกระทำที่เป็นไปเพราะความเห็นผิดต่างๆ ความเห็นผิดต่างๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่เป็นเพราะ มิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเป็นสภาพธรรม คือ อกุศลเจตสิก ซึ่งเมื่อบุคคลนั้นได้สะสมกรรมอย่างนั้นมา  สะสม ... สืบต่อมา ... เป็นอันมากจากในอดีต ก็เป็นปัจจัยให้มี ความโน้มเอียงที่จะเห็นผิด พิจารณาผิด เข้าใจผิด ประพฤติปฏิบัติผิด การสะสมกรรมนั้นๆ เป็นอันมากมาในอดีตของบุคคลนั้น กรรมนั้นๆ ก็เป็นปัจจัย ที่จะให้สภาพธรรมอย่างนั้นๆ เกิดขึ้น สภาพธรรมเหล่านั้นเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย ที่ทำให้จิตที่เกิดในปัจจุบัน เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรจะคิดถึงจิตและเจตสิก ที่จะเกิดต่อไปในอนาคต เมื่อได้ทราบว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใด เป็นอกุศลจิต เมื่อทุกท่านเห็น เห็นโทษของอกุศล ... ใคร่ที่จะดับอกุศล?

เพราะฉะนั้น มีทางเดียวที่จะดับอกุศลได้ คือ โดยการเริ่มอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะได้เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย ที่เป็นเหตุให้กุศลจิตเกิด และผลคือ สามารถที่จะดับกิเลสได้ ในอนาคต เพราะว่าทุกอย่าง แล้วแต่ "ปัจจัย" เพราะว่า อัธยาศัยของแต่ละคน แตกต่างกัน (มีการสะสมทั้งกุศลและอกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย) ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะปฏิสนธิเป็นเศรษฐี ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม (กรรมหนึ่งกรรมใด) ในอดีต แต่อาจจะเป็นผู้ที่มีความตระหนี่มาก

ทั้งนี้เพราะว่ายังมีอกุศลธรรมที่เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยเกิดขึ้น แล้วเป็นปัจจัยที่มีกำลัง คือทำให้ความตระหนี่เกิดขึ้นก็ได้ หรือ ความริษยาก็มีได้ เพราะถึงแม้ว่า กุศลกรรม เป็นปัจจัยที่มีกำลัง คือเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้กุศลวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ แต่ "ความริษยา" (อกุศลเจตสิก) ก็ยังไม่ได้ดับไปเป็นสมุจเฉท ถ้ามีความริษยาเกิดขึ้นบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นปกติ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง ก็ย่อมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลจิต เกิดพร้อมกับความริษยา ในปัจจุบันและต่อๆ ไป ในอนาคตด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของปัจจัยจริงๆ โดยเฉพาะคือปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กว้างขวาง เพราะว่ากุศลเป็น ปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลต่อๆ ไปได้ หรือกุศลในอดีตที่ได้สะสมมาแล้วด้วยดี จนเป็นปกติ ก็ทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีอุปนิสสัยในกุศล จะเห็นได้ว่าถ้าบุคคลใดไม่ได้สะสมกุศลจิตมาในอดีต จนกระทั่งมีกำลังเป็นปกติ เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ก็ไม่สามารถที่จะชวนบุคคลเหล่านั้น ให้เกิดกุศลจิตในขณะนี้ได้ หรือบุคคลนั้นไม่ได้สะสมกุศลขั้นที่จะสนใจศึกษาพระธรรมมาก่อนบ้างเลย บุคคลนั้นก็ไม่มีความสนใจที่จะศึกษา อบรมเจริญปัญญาตาม ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเคยเกิดมาแล้ว... จนเป็นปกติ ด้วยดี

ปกตูปนิสสยปัจจัย คือ ทุกอย่างที่แวดล้อมอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังให้เกิดนามธรรม (จิต เจตสิกประเภทต่างๆ ทั้งกุศล อกุศล อัพยากตธรรม) ในภพปัจจุบัน ในอดีต และอนาคตต่อๆ ไป แม้แต่ อากาศเย็น บางคนชอบ บางคนก็ไม่ชอบ ก็เพราะปกตูปนิสสยปัจจัย  ...สาธุ  คนเราแตกต่างกันเพราะการสะสมมาในอดีต จะไปบังคับเปลี่ยนแปลงตนเองหรือใครๆ ในเรื่องที่สะสมมานาน จึงยากส์ส์ส์ ... ด้วยประการฉะนี้แล

มาเที่ยวนี้ข้าพเจ้าชอบใจสบู่ในโรงแรมมาก จนคิดจะซื้อกลับไปใช้ ความพอใจมีกำลังขึ้น จนถึงขั้นต้องแสวงหา เพื่อครอบครอง เอาสบู่มาจากโรงแรมแล้วยังไม่พอ ต้องหาซื้อเพิ่มอีก ตามกำลังโลภะที่ไม่สิ้นสุด ที่ร้านหิมาลายาในสนามบิน ได้สบู่เด็กสองก้อนใหญ่ แม้จะไม่ใช่อย่างที่ชอบ แม้อาจจะสู้ของบ้านเราไม่ได้ ก็เอา ก็จะซื้อ วันนี้คนขายเมื่อยมือเมื่อยหูแต่ยิ้มแย้มสุขใจเพราะขายดีมาก คนไทยรุมเต็มร้านจนแน่นขนัด ซื้อแล้วก็มาเข้าแถวรอตรวจเอกสาร รอนานมาก คิวยาว ข้าพเจ้าอดไม่ได้บ่นว่า “แขกอาลัยอาวรณ์คนไทย ไม่อยากให้ออกจากอินเดีย” พี่ๆ น้องๆ ฟังแล้วขำเพราะเขาค่อยๆ ตรวจตัวสะกดของชื่อแต่ละคนในพาสปอร์ตกับเอกสาร ใจเย็นสุดๆ  นึกถึงคำที่ท่านอาจารย์กล่าวเตือนว่า จะพูดคำใดควรรู้ความหมายของคำนั้น ก็ต้องไปหาคำว่า “อาลัยอาวรณ์” ได้คำแปล ว่าอาลัย หรือ อา + ลี-ลย คือ ห่วงใย (บาลี) ที่อาศัย ที่ยึดติดยิ่ง (สันสกฤต) ส่วน อาวรณ์ หรือ อาวรณ คือ เครื่องกั้น (บาลี) คนไทยชอบนำมาใช้ด้วยกัน ตามความคล้องจองของคำ เข้าทำนองกลอนพาไป แต่ถ้าจะแปลว่า เครื่องกั้น (ความหลุดพ้นกิเลส) คือความห่วงใย ความยึดติดยิ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอ้อยอิ่ง ไปไม่ถึงไหนสักที ก็เป็นข้อเตือนใจดี

วันนี้เครื่องบินถึงสุวรรณภูมิตามเวลาเป๊ะ พอหยิบกระเป๋าเดินทางและสัมภาระได้แล้ว คณะเดินทางก็ล่ำลากันพบกันแล้วก็จากกันไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน ชีวิตก็วนเวียนเช่นนี้เอง พบเพื่อจาก จากเพื่อพบใหม่ สุขเพื่อทุกข์ ทุกข์เพื่อสุขอีก เกิดเพื่อดับ ดับเพื่อเกิด มีเมื่อคิด ไม่คิดก็ไม่มี... ถ้าอยู่กับปัจจุบันได้ตลอดเวลา ความทุกข์ก็ลดลงเยอะ



THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออก โดยการพิมพ์ (Print Article by Printable View)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ ไฟล์เอกสาร PDF (Export Article to PDF Format Document)

  หมวด : บทความธรรมะ
  ศาสนา : ศาสนาพุทธ
  จำนวนผู้ชม : 12,493
  ที่มา : คุณสิริพร ชาตะปัทมะ
  ผู้แนะนำ / ผู้ส่ง : คุณสิริพร ชาตะปัทมะ

© 2011-2017