ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
 

 

รวมลิ้งค์ เว็บไซต์ธรรมะ ที่น่าสนใจ
  THAIWARE Dharma | รายละเอียด บทความ บทสวด บทคาถา ธรรมะ
เลือกขนาดตัวอักษร ขนาดตัวอักษร :  ก   ก   ก   ก 

สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ (ปีที่ 3 ตอน 3) การสนทนาธรรม เป็นมงคลอย่างยิ่งประการหนึ่ง

 

    Share  
 

 

 

อาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2556 (คยา – พาราณสี)

การสนทนาธรรม เป็นมงคลอย่างยิ่งประการหนึ่ง

อาหารที่โรงแรมมีหลากหลายให้เลือกรับประทาน ข้าพเจ้าก็เพลิดเพลินเลือกทานอย่างละนิดละหน่อยตามความชอบ ตามความสามารถของพุงกะทิและสุขภาพของอวัยวะภายใน แต่ถ้ามีของชอบให้ทานได้เยอะๆ ก็จะไปตักอีกจนเกินพุงมาถึงคอ ขอประทานโทษที่บรรยายละเอียดไป ก็ความโลภนั้นไม่เข้าใครออกใคร เมื่อมีมากในผู้ใด ก็สร้างความน่ารังเกียจได้เสมอเช่นเรื่องกินของข้าพเจ้านี้ ปีนี้แขกหุงข้าวสวยได้นุ่มน่ารับประทาน ต้องขอชมความพยายามเอาใจคนไทยของแขก รับประทานอาหารเช้าแล้ว ก็มาฟังสนทนาธรรมกันที่ห้องโถงของโรงแรม เมื่อวานพี่หมูเห็นข้าพเจ้าจดธรรมะในกระดาษกำหนดการเดินทาง จึงมีจิตเป็นกุศล บอกว่าจะเอาสมุดโน้ตมาให้จด ข้าพเจ้าขอบคุณในน้ำใจแต่ไม่หวังมากเพราะถ้าพี่หมูลืม ข้าพเจ้าก็จะไม่มีกระดาษไว้จดบันทึก ถ้าเป็นเช่นนั้นอกุศลจิตก็จะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แน่ๆ  ดังนั้นเพื่อจะยังอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น จึงเอากล่องกระดาษแข็งสีขาวที่ใส่พานพุ่ม มาฉีกตามรอยพับ ได้กระดาษหกแผ่น เตรียมเอาไว้ และโดยเหตุปัจจัย ธรรมะจัดสรร ข้าพเจ้าก็ได้ใช้กระดาษนี้จดธรรมะในการสนทนาธรรม
 
ท่านอจ. อจ.นิภัทร อจ.ธีรพันธ์ อจ.กุลวิไล อจ.อรรณพ เป็นคณะวิทยากร ข้าพเจ้าจดบันทึกมาตามใจชอบดังนี้
 
- ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้บังเอิญ แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย
 
- แต่ละคำที่เป็นพุทธพจน์ มีค่ามาก
 
- แต่ละหนึ่งขณะ มีเหตุปัจจัยสืบต่อไม่ขาดสาย จนกระทั่งเป็นวันนี้ แล้วพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ไม่อาจรู้ได้
 
- ธรรมะแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ธรรมะควรพูดด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย และถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยภาษาอื่น ซึ่งยากที่จะเข้าใจ
 
- การอบรมเจริญปัญญา เกิดจากการบำเพ็ญบารมี แต่ละขั้น แต่ละระดับ
 
- ธาตุที่สำคัญ คือ ธาตุรู้
 
- ถ้าไม่พูดคำว่า ธรรมะ แต่พูดคำว่า สิ่งที่มีจริงๆ ก็จะเข้าใจได้
 
- เมื่อมีสิ่งปรากฏ ก็รู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ให้ละเอียดขึ้นๆ  จนกระทั่งไม่ยึดถือในสิ่งใด ที่เห็นอยู่ในแจกันนี้ เป็นดอกไม้ใช่ไหมคะ (ตอบ –  ใช่)  แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงสิ่งที่ปรากฏนี้ ก็ไม่รู้ความจริงที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ดอกไม้ กว่าจะละคลายความไม่รู้ จึงต้องอบรมปัญญาให้เจริญขึ้นเรื่อยๆ
 
- กิเลสเป็นธรรมะเครื่องเศร้าหมอง เป็นมลทินที่ทำให้ธรรมะไม่สะอาด
 
- สิ่งที่ประเสริฐ คือ การรู้ความจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ มีความเข้าใจถูก เห็นถูก
 
- พุทธพจน์ทุกคำ เป็นวาจาสัจจะ เมื่อเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนเข้าใจความจริงของแต่ละคำ จึงไม่ควรประมาท เพื่อชีวิตนี้จะได้มีความเข้าใจธรรมะ
 
- ในชาดก ก็เป็นชีวิตจริงที่ให้เห็นธรรมะ แม้แต่พระอานนท์ในชาติที่ยากจน มีเงินเพียงครึ่งมาสก ก็หวงแหนมาก ไม่อยากให้ใครเอาไป จนกระทั่งไปแอบฝังไว้ที่กำแพง (หมายเหตุ ครึ่งมาสก เท่ากับ 10 สตางค์ จากพระไตรปิฎกชุด ๙๑ เล่ม  ม.ม.ร.(ฉบับ ตรวจชำระใหม่) เล่มที่ ๗๙ หน้า  ๒๙๐ บ. ๑๙  ส่วนบางวินิจฉัยที่เปรียบเทียบกับราคาปัจจุบันที่ใช้เป็นมาตรฐานทุกยุค คือ 5 มาสก เท่ากับ ราคาตามน้ำหนักทองคำ ที่หนักเท่ากับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด ภิกษุใดเจตนาลักทรัพย์ผู้อื่นด้วยมูลค่าทรัพย์ตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป เป็นอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นภิกษุทันที)
 
- เรายึดถือในสิ่งที่ไม่มี เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว ดับแล้ว
 
- ต้องเป็นคนที่ตรงและจริงใจ จึงจะได้สาระจากพระธรรม
 
- การสนทนาธรรม เป็นมงคลอย่างยิ่งประการหนึ่ง
 
- สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วดับไปเป็นธรรมดา
 
- จิตหนึ่งขณะ ทำกิจหนึ่งกิจ มี 3 ขณะย่อย (3 อนุขณะ คือ ขณะเกิด ขณะรู้ ขณะดับ) และเกิดเร็วมาก
 
- ขณะนี้มีสิ่งปรากฏทางตา เพราะจิตเกิดขึ้นเห็น เราเห็นสิ่งใดมาก ก็คิดถึงสิ่งนั้นมาก เห็นใครมาก ก็คิดถึงคนนั้นมาก ทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา
 
- จิตเกิดเอง ตามลำพังไม่ได้ ต้องมีปัจจัยอาศัยกันและกัน ... แข็งเกิด ต้องมีธาตุที่รู้แข็ง แข็งจึงเกิด ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย จะมีโลกไหม แต่เพราะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิด จึงมีโลก เช่น ขณะนี้มีโลกเห็นเกิดขึ้น จึงเห็น
 
- สมหวัง คืออะไร สมหวังหรือเปล่าคะ เราคิดว่าสมหวัง คือ สมปรารถนา ขณะนี้ได้เห็น ก็สมตามที่ได้เห็น สมกับความอยาก ที่อยากเห็น แต่จะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ก็เป็นอีกตอนหนึ่ง
 
- สิ่งที่ถูกเห็น เป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดดับช้ากว่าจิต จึงเอาอายุของจิตมาวัดอายุของรูป รูปจึงมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ 17 ขณะ ... จิตเกิดขึ้นแล้วดับไปทันที เป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดสืบต่อทันที ไม่มีเว้น ไม่มีช่องว่าง จึงทำให้เหมือนเห็นไม่ดับ
 
- ถ้ามีการให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่พุทธพจน์ เพราะพุทธพจน์เป็น อนัตตา ทำไม่ได้ เกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัย ปัญญาประเสริฐสุด หมายถึง ความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงประเสริฐสุด ต้องเป็นผู้ตรง สาธุ
 
และ ในช่วงท้ายของเวลาสนทนาธรรม ข้าพเจ้าได้จังหวะจึงเรียนถามท่านอาจารย์และคณะวิทยากร แต่ว่าเมื่อเป็นผู้ถาม ก็ไม่ได้จดบันทึก เมื่อไม่ได้จด ก็จำไม่ค่อยได้ จึงขอสรุปตามความเข้าใจและความจำที่ยังเหลืออยู่ดังนี้
 
ถาม – เมื่อคืนได้รับแจกอาสนะ สามารถถวายพระได้หรือไม่
ตอบ – ไม่ควรถวาย เพราะมีลวดลายวิจิตร ไม่เหมาะสมกับเพศบรรพชิต
 
ถาม – ขณะที่กำลังโกรธ พบว่ามีสภาพธรรมหลายอย่างปรากฏให้ระลึกได้ เช่น ความขุ่นเคือง ความคิดประทุษร้าย (ลักษณะของโทสะ) ความติดข้อง เพลิดเพลินในการโกรธต่อไป (ลักษณะของตัณหา โลภะ) มานะ (สำคัญตน ถือตัว) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง) และมีความขี้เกียจ (ไม่อยากทำสิ่งนั้น แต่ต้องทำ จึงโกรธ)
ตอบ (อจ.นิภัทร)  – ขี้เกียจเป็นแมลงวัน (ข้าพเจ้าขำกลิ้งจนจำที่อาจารย์ท่านอื่นๆ พูดไม่ได้เลย ขออภัยจริงๆ)
 
ถาม – ขัดเกลากิเลส ละคลายกิเลส หมายถึงอย่างไร
ตอบ – ค่อยๆ ฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจขึ้นๆ ทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงมากขึ้น ก็จะละอกุศลลงได้ทีละเล็กละน้อย (ขัดเกลากิเลส) จนกระทั่งละอกุศลได้มากขึ้นๆ กิเลสก็จะลดลงๆ ไปตามลำดับ (ละคลาย)
 
ถาม – เมื่อฟังธรรมแล้วก็รู้ ก็มักพูดกันว่าทุกอย่างเกิดตามเหตุปัจจัย จริงๆ เมื่อรู้แล้วควรทำอย่างไรต่อ
ตอบ – แม้แต่คิดก็เป็นเรา ถามว่า เมื่อทุกอย่าง เกิดตามเหตุปัจจัย แล้วควรทำอย่างไร ก็เป็นเรา
ท่านอาจารย์ถามข้าพเจ้าว่า ใครรู้เหตุปัจจัย ข้าพเจ้างงคำถามท่าน และไปสนใจคำว่า “ใคร” เมื่อผสมกับความยึดมั่นในความเป็นตัวตน จึงแอบมองพี่ๆ น้องๆ เพื่อหาคำตอบแล้วตอบท่านว่า “พระพุทธเจ้า” ตอบผิด เปลี่ยนเป็น “ตัวเรา” ตอบผิดอีก ท่านอาจารย์ไม่เฉลย ทิ้งไว้ให้ข้าพเจ้าคิดต่อไป ก่อนจบการสนทนาเพราะต้องรีบไปทานอาหารเที่ยงและเตรียมตัวขึ้นเครื่องบิน ข้าพเจ้าพลั้งปากเสียมารยาทพูดแทรกประโยคสุดท้าย เพื่อย้ำให้เข้าหูตนเองอีกครั้งว่า “ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง” ด้วยตระหนักขณะนั้นว่าการจะศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรมคำสั่งสอนขององค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ต้องใช้ความอดทนเป็นความเพียรเครื่องเผา (ละ) กิเลสอย่างยิ่ง ต้องอดทนไม่ย่อท้อในการสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกทีละเล็กละน้อยหลายภพหลายชาติเป็นเวลาแสนกัป โกฎิกัป เป็นอสงไขย นานจนไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลามากมายเท่าไร กว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งและหลุดพ้นจากตัณหา อวิชชา กองกิเลสทั้งปวงได้ ถ้ายังมีความเห็นผิด เข้าใจผิด ก็ละกิเลสไม่ได้ แม้เริ่มมีความเห็นถูก แต่ปัญญายังสะสมไม่เต็มรอบ ก็ยังไม่ประจักษ์แจ้งความจริงได้ง่ายๆ ต้องอดทนและพากเพียรศึกษา พระธรรมไม่ใช่เรื่องผิวเผิน แต่ละเอียด ลึกซึ้งยิ่งนัก
 
ตอนทานอาหารเที่ยง น้องจิ๋วบอกข้าพเจ้าว่า ทำไมพี่ตอบช้าจัง ข้าพเจ้าก็ยังเป็นงงอยู่ คิดไม่ออก ตอบไม่ถูก จากนั้นก็เดินทางไปสนามบินคยา ระหว่างรอผ่านการตรวจเข้าสนามบิน ข้าพเจ้าไปร่วมวงคุยกับพี่ๆ น้องๆ ลุงป้าน้าอาตามประสา ข้าพเจ้าพูดเล่นเจรจาไปเรื่อย แล้วอยู่ๆ ก็นึกได้ว่าพูดเกินจริง ไม่ควรพูด จึงพูดทะลุกลางวงสนทนาว่า พระพุทธเจ้าทรงเตือนพระราหุลว่า อย่าพูดโกหก แม้เพียงเพราะการล้อเล่น พี่ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า พี่ประทับใจในพระสูตรนี้มาก จนท่องจำไว้ขึ้นใจ ข้าพเจ้าขออนุญาตคัด จูฬราหุโลวาทสูตร จาก www.84000.org พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มาไว้ ณ ที่นี้เพื่อเตือนใจให้ได้ระลึกถึงกัน
 
[๑๒๗] ดูกรราหุล เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ช้างนั้นเข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหู ทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น. เพราะการที่ช้างรักษา แต่งวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ฯ  ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น ชีวิตชื่อว่าอันช้างต้นยังไม่ยอมสละแล ดูกรราหุล เมื่อใดแลช้างต้นมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ฯ ด้วยงวงบ้าง เพราะการที่ช้างทำกรรมด้วยงวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ก็ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ฯ ด้วยงวงบ้าง ชีวิตชื่อว่าอันช้างต้นยอมสละแล้ว บัดนี้ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้ ฉันใด ดูกรราหุล เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุลเธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล  (มุสา คือ การพูดคำไม่จริง พูดคำเท็จ โกหก) .. สาธุ
 
รอเครื่องบินอยู่สองชั่วโมงกว่า คุยกันแล้วคุยกันอีก จนคอแห้ง หลายท่านกรุณานำน้ำและขนมมาแจกให้ทานรองท้องกัน สาธุ ใกล้เวลาบิน ข้าพเจ้ารีบไปเข้าห้องน้ำ ขออนุญาตบรรยายเหตุการณ์ในห้องน้ำสักเล็กน้อย คือข้าพเจ้าเผลอเอาน้ำราดที่นั่งโถชักโครกเพื่อทำความสะอาดก่อนใช้ โดยไม่ดูว่าพื้นห้องน้ำจะเปียกเลอะเทอะหรือไม่ เสร็จธุระออกมา พอดีมีน้องเข้ามากันสองคน คนหนึ่งจะเข้าห้องน้ำแล้วเห็นพื้นเปียก ไม่สะอาด จึงไปหยิบม๊อบถูพื้นที่วางใกล้ๆ ประตูมาเช็ดพื้นห้องน้ำให้สะอาดและแห้งก่อนจะเข้าไป นึกละอายที่ตนเองไม่รอบคอบเลยทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ได้แต่อนุโมทนาในกุศลที่น้องกระทำ เครื่องบินใช้เวลาประมาณ 50 นาทีก็ถึงพาราณสี ข้าพเจ้าเห็นร้านหิมาลายาอยู่ในสนามบินด้านผู้โดยสารขาออก ก็หมายตาเอาไว้ตอนขากลับสำหรับช้อปปิ้ง เมื่อมาถึงโรงแรม Ramada Plaza JHV พาราณสี ก็ค่ำแล้ว แต่ก็ยังมาถึงก่อนคณะที่เดินทางโดยรถทัวร์เป็นชั่วโมง โรงแรมนี้อยู่ซอยข้างๆ โรงแรมคล้ากที่เคยพัก ต้อนรับกันด้วยการเจิมหว่างคิ้วด้วยสีแดง อาหารค่ำรออยู่แล้ว ระหว่างทางไปห้องอาหารมีร้านขายของ ข้าพเจ้าสอดส่ายสายตาไปเรื่อย จึงปะทะกับนกแก้วสีเขียวเกาะคอน ก็หยุดชม คนขายเป็นผู้หญิงมาทักทายชวนซื้อว่าทำด้วยเงินลงยา คือเคลือบสีต่างๆ ถามว่าตัวเท่าไร ได้ยินว่า 250 บาท ข้าพเจ้าขอตัวไปทานข้าวก่อน กะว่าจะกลับมาต่อราคา
 
ระหว่างทานอาหาร ท่านอาจารย์เมตตามาร่วมวงสนทนาด้วย ท่านไม่รับประทานอาหารเย็น เพียงดื่มน้ำผลไม้เท่านั้น แม้มีผู้คนมาสนทนาธรรมด้วยทั้งวัน และเดินทางไกล ท่านก็ยังสดใสทั้งๆ ที่ปีนี้ท่านย่าง 87 แล้ว มีตอนหนึ่งคุยกันถึงเรื่องที่ข้าพเจ้าถามท่านอาจารย์เมื่อตอนก่อนเที่ยง น้องจิ๋วบอกว่าฟังอยู่ตลอดเช้า เพิ่งสนใจและเข้าใจตอนห้านาทีสุดท้าย “ใครรู้เหตุปัจจัย” คำตอบคือ “ปัญญา” โธ่เอ๋ย ข้าพเจ้าเป็นวัวแก่ ที่ลืมหญ้าปากคอกนั่นเอง คุณสพรั่งเล่าว่าขณะฟังสนทนาธรรม ปวดหลังมากคิดว่าจะหลบไปพักสักหน่อย แต่แล้วนึกถึงพระสูตรที่กล่าวถึงผู้หญิงคนหนึ่งขณะฟังพระธรรมอยู่ งูมากัดลูกน้อยตาย แต่นางจิตใจไม่หวั่นไหวฟังพระธรรมจนจบ คุณสพรั่งจึงอดทนความเจ็บปวด ไม่หลบไปพัก ฟังจนจบ และเป็นเหตุปัจจัยให้เข้าใจธรรมะมากยิ่งขึ้น สาธุ กับทั้งสองท่าน ขอคัดเรื่องที่คุณสพรั่งเล่าให้ฟังจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓  หน้า ๑๙๒ (มโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ฐานสูตร) ในเว็บไซด์บ้านธัมมะ มาดังนี้
 
หญิงคนหนึ่ง เป็นชาวบ้านกาฬุมพระ อุ้มลูกไปยังจิตตลบรรพต ด้วยคิดว่า จักฟังธรรม ให้ลูกนอนพิงต้นไม้ต้นหนึ่ง ตนเองยืนฟังธรรม ในระหว่างรัตติภาค (ตอนกลางคืน) งูตัวหนึ่งกัดเด็กที่นอนอยู่ใกล้ๆ นาง ทั้งๆ ที่ดูอยู่ เข้าสี่เขี้ยว แล้วหนีไป นางคิดว่า ถ้าเราจักบอกว่า ลูกของเราถูกงูกัดไซร้ ก็จักเป็นอันตรายแก่การฟังธรรม เมื่อเรายังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เด็กคนนี้ ได้เป็นลูกของเรามาหลายครั้งแล้ว เราจักประพฤติธรรมเท่านั้น แล้วยืนอยู่ตลอดทั้ง ๓ ยาม ประคองธรรมไว้  ได้บรรลุโสดาปัตติผล เมื่ออรุณขึ้นแล้วทำลายพิษงูในบุตร ด้วยการทำสัจจกิริยา แล้วอุ้มบุตรไป  คนเห็นปานนี้ ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ใคร่ในการฟังธรรม (สัจจกิริยา คือ การตั้งจิตอธิษฐาน อ้างเอาความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลัก เพื่อให้เกิดอานุภาพ ดลบันดาลให้สำเร็จผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ตนปรารถนา) ... สาธุ
 
และเมื่อทานอาหารเสร็จ ก็กลับมาแวะร้าน ปรากฏว่า ฟังผิด จริงๆ แล้วราคา 2500 รูปีส์ เป็นเงินไทย 1500 บาท ข้าพเจ้านั้นจริงๆ คิดจะอุดหนุนแขก เห็นไม่มีคนแวะ แล้วร้านอยู่ในโรงแรม ลูกค้าคงจะน้อย ลูกชายเจ้าของร้านบอกว่าลดให้ขาดตัว 600 บาท ข้าพเจ้าต่อรอง 500 บาท ยังไม่ตกลงกัน คนขายชี้ชวนดูสินค้าชิ้นอื่นๆ ข้าพเจ้าดูแล้วก็ชอบพระพิฆเนศองค์เล็กๆ กระต่ายน้อยสีเขียว และอื่นๆ อีกหลายชิ้น ก็คุยกันเรื่องเทพเจ้า เขาเลยเอาน้ำมันหอมสีชาอ่อน ที่ใส่ในตลับเงินเล็กๆ มาแตะให้หยดหนึ่งที่หลังมือ และให้เอาหลังมืออีกข้างมาถูให้น้ำมันกระจายเข้าเนื้อแล้วดม กลิ่นคล้ายน้ำมันสน หอมของแขกกับไทยบางครั้งก็ต่างกันจริงๆ เขาบอกว่าน้ำมันนี้เรียกว่า อัมเบอร์ (umber) เป็นน้ำมันที่ใช้บูชาเทพเจ้า ประมาณว่าหายาก ได้จากหมีที่กินอาหารบางชนิดแล้วปล่อยสารบางอย่างจากพุงไว้ที่ต้นไม้แล้วหล่นลงมา จึงเก็บมาทำน้ำมัน ฟังๆ แล้วเหมือนชะมดเช็ดบ้านเรา น้องเหน่งช่วยค้นข้อมูลให้ก็ไม่เจอ ข้าพเจ้าค้นเองก็ไม่ได้เรื่องเช่นกัน 
 
ข้าพเจ้าหาเรื่องทั้งดีทั้งไม่ดีสะสมใส่ตัว ไปวันๆ แล้วก็เข้านอน น้องจิ๋วไปนอนห้องสวีท ข้าพเจ้าว่าจะตามไปดูสักหน่อยตามประสาคนชอบรู้ชอบเห็น แต่ก็มัววุ่นวายกับการจะซื้อนกแก้วจนลืมไปเลย คืนนี้ข้าพเจ้าเปิดวิทยุทั้งคืน จนแบตเตอรี่หมด เพราะนอนหลับๆ ตื่นๆ ด้วยเสียงชักโครก เสียงน้ำไหลในท่อระบายน้ำเวลาห้องอื่นๆ ใช้ห้องน้ำ เสียงดังอึกทึกครึกโครมจริงๆ และปลุกข้าพเจ้าให้ตื่นเป็นระยะๆ ตลอดคืน จนแทบจะไม่ได้หลับเลย
 



THAIWARE Dharma | นำข้อมูลบทความออก !  นำข้อมูลออกพิมพ์ !

THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออก โดยการพิมพ์ (Print Article by Printable View)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ MS.Word (Export Article to MS.Word)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ ไฟล์เอกสาร PDF (Export Article to PDF Format Document)
 

THAIWARE Dharma | กลับสู่หน้าแรก ไทยแวร์ธรรมะ
 

 

 

 

  THAIWARE Dharma | ส่งความคิดเห็นจากทางบ้าน !
หัวข้อ เนื้อหา ข้อตกลง
  ความคิดเห็น* :

หมายเหตุ : กรอกรายละเอียดของบทความเข้าไป (ไม่รับ HTML Code) สามารถกด Enter ขึ้นบรรทัดใหม่ได้
  ห้ามโพสข้อความ !

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลต่อ ความมั่นคงของประเทศ

  ที่ส่อไปทางลามก อนาจาร หรือผิดศีลธรรม

  ที่ถือเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย

  ที่เป็นความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ผิดต่อ พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๑
  ชื่อ / อีเมล์* :

หมายเหตุ : "นาย สมชาย รักธรรม" หรือ "somchai.r@gmail.com"
  รหัสยืนยัน* :

 
ฉันยอมรับข้อตกลงที่กล่าวมา ภายในหน้านี้ ทั้งหมด